ให้ยังไง ไหนเล่า!

เพราะโลกที่เราให้กันได้ไม่ใช่แค่ฝัน และโลกใบนั้นต้องสนุก!

เทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ หรือ Learning Fest Bangkok ก้าวสู่ปีที่ 3 อย่างเปี่ยมพลัง และแน่นอนว่ารอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความประทับใจก็ไม่เคยแผ่ว เพราะงานนี้ Katanyu Tonight โดยพิธีกรอารมณ์ดี กตัญญู สว่างศรี ยกทีมงานและโต๊ะไม้ที่เป็นซิกเนเจอร์ของรายการ มาสร้างสรรค์บรรยากาศเปิดเทศกาลฯ ถึง TK Park

Katanyu Tonight x Givetopia Talk นำแนวคิดหลักของเทศกาลฯ  “Givetopia: อุดมการ(ณ์)ให้” มากะเทาะให้เห็นถึงการให้ในหลากหลายมิติ ด้วยการสนทนากับผู้ให้ทั้ง 3 คน ได้แก่ พี่หนูหริ่ง สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา เอด้า จิรไพศาลกุล ผู้บริหารเทใจดอทคอม และ พี่ก้อง ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารและผู้ก่อตั้งนิตยสารออนไลน์ The Cloud ในบรรยากาศชวนอมยิ้ม ปนเสียงหัวเราะในบางจังหวะ

เพราะการให้ มีกำลังขยาย

“การแบ่งปันไม่ใช่แค่เรื่องของเงิน แต่เป็นการมองเห็นปัญหาตรงนั้น แล้วเราอยากดัดแปลงตัวเองให้สอดรับกับสถานการณ์นั้นได้อย่างไรบ้าง” พี่หนูหริ่ง ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา เล่าถึง ‘การให้’ ของตัวเองว่าเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่การออกค่ายชนบท เร่แสดงละครตามชุมชน แจกสิ่งของ ไปจนถึงจ้างงานสร้างอาชีพ จนในที่สุดจึงกลายเป็นการก่อตั้งวงจรของการให้ ขยายขอบเขตของการบริจาค และสร้างระบบที่ครอบคลุมผู้รับมากขึ้นเรื่อย ๆ

จุดเริ่มต้นการให้ของพี่หนูหริ่ง เริ่มต้นจากคำถามที่อยากทำอะไรบางอย่าง ซึ่งพอทำแล้วต้องสนุกด้วย จนประกอบสร้างออกมาเป็นการทำค่าย และการทำละครเร่ตามชุมชน พอเข้าสู่ปีที่ 10 เกิดคำถามใหม่ขึ้นมาในใจอีกครั้ง สิ่งที่เขาทำลงไป มันเปลี่ยนแปลงชุมชนอย่างไรบ้าง เมื่อผุดคำถามขึ้นมาแล้ว ก็ถึงเวลาไปหาคำตอบ และปรับวิธีการของตนเองให้สอดรับกับสภาพความจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนนำมาสู่การก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา

การแบ่งปันไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของหรือเงินทอง แต่เป็นการสร้างสังคมที่พึ่งพากัน ทั้งผู้ให้ ผู้รับ และสังคมโดยรวมแข็งแรงขึ้น พี่หนูหริ่งยอมรับว่าการให้ของเขาไม่ได้ถูกใจทุกคน แต่ด้วยความตั้งใจแก้ปัญหาถึงต้นตอ เขาและทีมงานจึงนำเสียงตอบรับมาจากผู้คนในพื้นที่มาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ ตัวอย่างเช่น การแจกอาหารกล่องให้คนไร้บ้านใจกลางลานคนเมือง กทม. ทำให้คนในละแวกนั้นห้ามปรามลูกหลานไม่ให้ออกจากบ้านเพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย ในเวลาที่มูลนิธินำอาหารมาบริจาคและคนไร้บ้านรวมตัวกันต่อแถวรับ ทีมงานจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบและจุดบริจาคเพื่อให้ส่วนรวมพึงพอใจและเห็นประโยชน์ร่วมกัน อีกตัวอย่างเป็นงานที่ทีมงานสังเกตเห็นความต้องการจริงของคนไร้บ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ นำมาสู่โครงการ ‘จ้างวานข้า’ ซึ่งจ้างงานผู้สูงวัยไร้บ้านให้มีรายได้มั่นคงและเพียงพอที่จะเช่าที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง

จากความปรารถนาดีที่จะให้ ร่วมกับความตั้งใจสังเกต ตั้งคำถาม และปรับเปลี่ยนวิธีการไปเรื่อย ๆ ทำให้ขอบเขตของการให้ขยับขยายไปสู่การแก้ไขปัญหาหลายอย่างในสังคมที่ครบวงจรขึ้นเรื่อย ๆ สร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนขึ้นเรื่อย ๆ และสังคมที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุด

 

ให้ในเรื่องเล็ก ๆ แต่สม่ำเสมอ

บางครั้งหลายคนก็อยากเห็นผลลัพธ์ของการแบ่งปันแบบทันตา เช่น บริจาคเงินเพื่อเห็นพื้นที่สีเขียวเยอะขึ้น หรือบริจาคเงินเพื่อเห็นแหล่งน้ำสะอาด แต่ท่ามกลางกระแสโลกที่เรื่องราวไหลผ่านเราไปอย่างรวดเร็ว ผู้ให้ไม่มีเวลามาติดตามผลลัพธ์ และการไม่เห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมเสียที ก็ทำให้หลายคนอาจถอดใจ และคิดว่าคนตัวเล็ก ๆ คงลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ หรือบางคนก็เลือกเฝ้ารอการเปลี่ยนแปลง เฝ้ารอนโยบายและการเคลื่อนไหวจากภาครัฐ

“สิ่งที่เราทำไม่ได้ มันทำให้เราไม่มีความหวัง แต่การได้ลงมือทำอะไรสักอย่าง แล้วมองเห็นผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงของมัน แม้เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มันจะทำให้เรามีความหวังขึ้น” เอด้า ผู้บริหารเทใจดอทคอม แพลตฟอร์มระดมทุนเพื่อสังคม เล่าบทสรุปที่ตนเองได้เรียนรู้ ตั้งแต่ตอนที่อยู่ในบทบาทเจ้าหน้าที่ที่คอยรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่มายื่นต่อรัฐ จนถึงปัจจุบันที่แพลตฟอร์มดังกล่าวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมาเรื่อย ๆ ทีละเล็กน้อย

เมื่อเอด้ามองเห็นปัญหาและโอกาสในการแก้ไขด้วยพลังเล็ก ๆ ของผู้คน เทใจดอทคอมจึงก่อตัวขึ้นในฐานะพื้นที่แห่งการแบ่งปันบนโลกออนไลน์เป็นเวลากว่า 15 ปี หลายโครงการได้รับการแก้ไขปัญหา และมีช่องทางติดตามผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงอย่างครบครัน

หลายคนอาจมองข้ามหรือมองเห็นการบริจาคเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่การมีเงินทุนคือคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ง่ายที่สุด ที่จะนำไปสู่การลงมือปฏิบัติและการแก้ไขปัญหาสังคมได้ และต่อมามันก็จะค่อย ๆ เริ่มขยับขยายการแบ่งปันของเราออกไป จากการลงทุน เป็นการลงแรง การสร้างแนวร่วม สู่แรงผลักดันที่จะทลายข้อจำกัดต่าง ๆ ให้หมดไป

การให้ที่เทใจดอทคอมยังต้องการกำลังสนับสนุนอื่นนอกจากเงิน ทั้งการเป็นอาสาสมัคร หรือการบริจาคสิ่งของ ที่เอด้าได้สัมผัสจากประสบการณ์ของตัวเธอเองก่อน ที่ได้ลองเริ่มจากเรื่องง่าย ๆ ที่สร้างความชื่นใจและเป็นกำลังใจให้ตื่นขึ้นมาใช้ชีวิต

 

ให้รู้ไว้ ว่าใครกำลังหมุนโลก

“บนโลกมีคนอยู่สองประเภท หนึ่งคือคนอยู่บนโลกที่กำลังหมุน สองคือคนออกแรงหมุนโลก พอมาทำสื่อออนไลน์จึงอยากหมุนโลกด้วยตัวอักษร ฉายไฟไปที่คนออกแรงหมุนโลกเหล่านั้น เพื่อให้โลกได้เห็น ร่วมกัน support และสร้าง role model ใหม่ขึ้นมา” พี่ก้อง บรรณาธิการบริหารและผู้ก่อตั้งนิตยสารออนไลน์ The Cloud เล่าถึงความตั้งใจในการถ่ายทอดเรื่องราวของผู้คนที่ออกแรงขับเคลื่อนโลก

การสร้างสรรค์เรื่องราวของผู้ให้ผ่านตัวอักษรเป็นวิธีการให้ในแบบของเขา เมื่อผู้คนมากมายมองเห็นกิจกรรมเล็ก ๆ ที่เขาฉายไฟไปหา แล้วได้รับแรงบันดาลใจและเรียนรู้ถึงคุณค่าของการอยู่ร่วมกันในสังคม การให้ของเขาจึงเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและทรงพลัง

พี่ก้องยังชวนให้ทุกคนเปลี่ยนคำถามต่อตัวเองในเรื่องการให้ จากที่เคยถามว่า ตัวเรามีวิธีแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ง่ายที่สุดอย่างไร กลายเป็น เราจะแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ได้มากที่สุดอย่างไร เพราะคำถามใหม่นี้จะชวนให้เราสำรวจปัญหา สิ่งแวดล้อมรอบตัว แล้วปรับตัวเองให้เอื้อต่อการแก้ปัญหามากมายในสังคมจนสุดกำลังของเรา

เพราะการให้เริ่มจากใคร ที่ใด และเมื่อไหร่ก็ได้ Givetopia จึงอาจเป็นพื้นที่ที่เกิดขึ้นแล้วรอบตัวของผู้ให้ทั้งสามคนนี้และคนอื่นอีกหลายคน เหลือเพียงรอการค้นพบและเชื่อมร้อยให้เป็นโลกใบเดียวกัน