Home

ตลาดน้อย ชุมชนเล็ก เรื่องราวมหาศาล

ที่เทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ Learning Fest Bangkok 2024 คุณนัท จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นกรุงเทพฯ นำทัพทีมงาน เลิฟ ทู ดู ทราเวล จัดกิจกรรม ท่องเที่ยวเดินเท้า ก้าวย่างสู่การเปลี่ยนแปลง พาสายเที่ยวไปเดินชมศาสนสถานและอาคารเก่าย่านตลาดน้อย เพื่อเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของย่านตลาดน้อย มากกว่าแค่เป็นย่านที่เต็มไปด้วยคาเฟ่ สตรีทอาร์ต และอาหารอร่อย

ตลาดน้อยที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ จึงอยู่ในฐานะพื้นที่ทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ยุคที่สังคมยังคงขับเคลื่อนด้วยตลาด วัด ชุมชน และเป็นยุคบุกเบิกสถาบันการเงินอย่างธนาคาร ก่อนที่เศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศไทยจะเฟื่องฟูขึ้นในเวลาต่อมา

เรื่องเล่าที่วัดมหาพฤฒาราม

กิจกรรม ท่องเที่ยวเดินเท้า ก้าวย่างสู่การเปลี่ยนแปลง เริ่มเส้นทางเดินทัวร์กันที่จุดนัดพบภายในวิหารพระพุทธไสยาสน์ (วิหารพระนอน) วัดมหาพฤฒารามวรวิหาร ริมถนนมหาพฤฒาราม ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้า MRT หัวลำโพง

วัดมหาพฤฒารามวรวิหาร มีชื่อเดิมอยู่หลายชื่อ ชาวบ้านโดยรอบเคยเรียกว่า “วัดท่าเกวียน” เพราะคนค้าขายที่เข้ามาในกรุงเทพฯ โดยใช้เกวียนเป็นยานพาหนะมักมาจอดพักแรมกันที่นี่ และยังมีอีกชื่อคือ “วัดตะเคียน” ตามต้นตะเคียนที่เคยมีอยู่มาก ก่อนที่ต่อมาจะเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดมหาพฤฒาราม” สมัยรัชกาลที่ 4

ในวัดแห่งนี้มีหลักฐานหลายอย่างที่เชื่อมโยงไปถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เช่น ความงามและลักษณะเด่นขององค์พระนอนในรูปแบบศิลปะแบบเหมือนจริง (realistic) เห็นได้จากลักษณะของริ้วจีวร (drapery) ซึ่งไม่ได้ดูแข็งตรงเหมือนพระพุทธรูปยุคก่อนหน้า และลักษณะพระบาททั้งสองข้างที่เหลื่อมกันเล็กน้อยตามธรรมชาติของมนุษย์ขณะนอนตะแคง

ลักษณะทางศิลปะอีกอย่างหนึ่งที่แตกต่างจากวัดอื่น ๆ คือ จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถที่เป็นเรื่อง “ธุดงควัตร 13” หรือวัตรปฏิบัติของพระ และภาพวาดศิลปะบนบานประตูและหน้าต่างของพระอุโบสถ ที่ลงสีชาดไว้อย่างวิจิตร ส่วนต้นไม้ปิดสีทองเด่น ต้นไม้ กิ่งไม้ และลูกไม้มีความหลากหลายนานาพันธุ์ มีการถ่ายทอดเรื่องราวของวิธีขยายพันธุ์พืช เช่น การติดตา และการตอนกิ่ง เป็นต้น

จากต้นไม้ในพระอุโบสถ ก็เดินออกมาพบกับ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ต้นไม้จริงที่เก่าแก่ ยืนเด่นแผ่ร่มเงาแก่ผู้มาเยือนให้ร่มเย็น ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้เกิดจากการนำหน่อมาจากต้นศรีมหาโพธิ์ เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา มาเพาะพันธุ์ให้เติบโตอยู่คู่กับวัดแห่งนี้

ชวนชมอาคารเก่าย่านตลาดน้อย

จากวัดมหาพฤฒาราม ลูกทัวร์เดินเท้ากว่า 30 ชีวิตก็ค่อย ๆ ออกเดินเลียบคลองผดุงกรุงเกษมไปทางถนนเจริญกรุง ก่อนเลี้ยวขวาข้าม “สะพานพิทยสถาน” วิทยากรชี้ชวนให้ดูตึกสีขาวครีมสูงเด่นกว่าอาคารเก่าอื่นที่อยู่ติดกัน ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของโรงน้ำแข็งแห่งแรกของเมืองไทย ชื่อ “น้ำแข็งสยาม” หรือที่ชาวบ้านเรียกตามชื่อเจ้าของว่า “โรงน้ำแข็งนายเลิศ” 

ที่ตึกนี้ ชั้นล่างใช้งานเป็นโรงน้ำแข็ง ชั้นบนเป็นโรงแรม แต่ความพิเศษของตึกนี้ที่มองไม่เห็นจากภายนอก คือการที่นายเลิศก็ดัดแปลงต่อท่อส่งไอเย็นขึ้นไปถึงชั้นบน ทำให้ความเย็นกระจายไปเหมือนระบบปรับอากาศ ทำให้กับแขกที่มาพักเย็นฉ่ำกันถ้วนหน้า

ถัดจากสะพานพิทยสถาน ซอยเจริญกรุง 24 หรือตรอกโรงน้ำแข็งมีจุดสังเกตอยู่ที่ตึกออฟฟิศ “หนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยน” หนังสือพิมพ์จีนเก่าแก่ที่สุดของไทย และจนถึงปัจจุบันนี้ ที่นี่ก็ยังตีพิมพ์และส่งหนังสือพิมพ์ให้สมาชิกทั่วประเทศอยู่

เมื่อเข้าสู่ตรอกโรงน้ำแข็ง ก็จะพบกับศิลปะกราฟิตี้บนกำแพงให้หลายคนได้แวะถ่ายรูปกัน ตรอกนี้ยังมีร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดตุ๋นเจ้าเก่า ที่ผู้คนยกนิ้วชมว่าเด็ด และชวนให้มาชิมหากใครมีโอกาสผ่านมาย่านนี้อีก เดินไปจนสุดตรอกก็เจอกับอาคารออฟฟิศของ “น้ำปลาตราปลาหมึก” น้ำปลาคู่ครัวไทยที่ดังไกลไปถึงต่างประเทศ จากนั้น เหล่าลูกทัวร์เดินเท้าก็เดินต่อมุ่งตรงไปยังตึกธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย เพื่อชมความงามของสถาปัตยกรรมของอาคารและดื่มด่ำกับบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยาในยามบ่าย

อาคารแบงก์ กลางชุมชนชาวจีน

เพราะเป็นวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันปิดทำการธนาคาร ทัวร์เดินเท้านี้จึงสัมผัสบรรยากาศได้แค่เฉพาะภายนอกของตัวตึกของธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย แต่จุดชมวิวก็คือสนามหญ้าริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีลมพัดเย็น และมีต้นโพธิ์ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงา ทำให้การชมความงามของภายนอกตัวตึกเป็นไปอย่างสงบร่มรื่น

อาคารสีเหลือง 3 ชั้นอายุกว่า 100 ปีแห่งนี้ เคยเป็นสำนักงานใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์มาก่อน และยังเปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ตัวอาคารก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมโบซารส์ (Beaux Arts) ผสมนีโอคลาสสิก ออกแบบโดยนายอันนิบาเล ริก็อตติ สถาปนิกซึ่งอยู่ในทีมออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม อาคารแห่งนี้นำจุดเด่นของความคลาสสิกจากหลาย ๆ ยุคมาผสมผสานกันอย่างลงตัว เช่น เสาเซาะเรียบสไตล์ฝรั่ง ปูนปั้น หน้าบรรณจั่วราบ ภายในตัวอาคารยังคงความคลาสสิกด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้แท้และบรรยากาศของธนาคารในสมัยอดีตไว้

นอกจากความงดงามด้านสถาปัตยกรรมของอาคารที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นเมื่อปี 2525 แล้ว ที่นี่ยังมีต้นไม้ใหญ่ที่อยู่คู่กับตึกแห่งนี้มายาวนานอีก 2 ต้น ต้นแรกคือ “ต้นโพธิ์” ที่อยู่ในพื้นที่นี้มาตั้งแต่ก่อนก่อสร้างตัวอาคารเสียอีก ต้นโพธิ์นี้ถือเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ทรงคุณค่าทางจิตใจของชาวธนาคารไทยพาณิชย์ ส่วนอีกต้นคือ “ต้นไกร” ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน เพราะลำต้นใหญ่ขนาด 10 คนโอบ และสูงเท่าตึก 5 ชั้น ซึ่งอยู่คู่กับสาขาตลาดน้อยมานานกว่า 100 ปี 

ศิลปะวัดญวนตลาดน้อย

หลังจากนั่งพักทานอาหารว่างและฟังเรื่องเล่าของตึกอาคารไทยพาณิชย์ และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับศาสตร์ฮวงจุ้ยของเหล่าอาคารใหญ่ที่สองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว คณะทัวร์ก็เดินผ่านถนนซอยในชุมชน ลัดเลาะไปตามตรอกแคบ ๆ ที่มีบ้านคนในชุมชนเรียงรายไปตลอดสองข้างทาง ทะลุออกถนนใหญ่สู่จุดหมายสุดท้ายของทริปนี้คือ “วัดอุภัยราชบำรุง” หรือวัดญวนตลาดน้อย ที่เดิมทีเป็นเพียงศาลเจ้าเล็ก ๆ ในสมัยกรุงธนบุรี ก่อนจะได้รับการปฏิสังขรณ์ให้ใหญ่ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 โดยได้รับพระราชทานนามว่า “วัดอุภัยราชบำรุง” ซึ่งหมายถึง วัดที่ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์

ความน่าสนใจของวัดญวนตลาดน้อยมีหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่ทางเดินสู่อุโบสถของวัดที่ใช้ “อับเฉา” ปูเป็นทางเดิน หลายคนอาจคิดว่า “อับเฉา” หมายถึงตุ๊กตาจีนที่เชื่อกันว่านำมาถ่วงน้ำหนักเรือระหว่างเดินทางเมื่อไม่มีสินค้า แต่วิทยากรและผู้นำชุมชนตลาดน้อยบอกกับพวกเราว่า จริง ๆ แล้ว อับเฉา คือ หินแกรนิตแท่งที่ใช้ปูเรียงตามแนวกระดูกงูเรือขนส่งสินค้า และเมื่อมาถึงเมืองไทย ก็มีการใช้หินอับเฉาเหล่านี้มาปูพื้นในวังและวัด ซึ่งปัจจุบัน ในย่านตลาดน้อยเหลือพื้นที่ปูด้วยหินอับเฉาโบราณเพียง 3 แห่งเท่านั้น คือ วัดญวณ ศาลเจ้าโจวซือกง และบ้านโซวเฮงไถ่ หรือบ้านคุณนายดวงตะวัน

การเดินทางของคณะทัวร์เดินเท้าในครั้งนี้พบกับความโชคดีอีกหนึ่งอย่าง คือการได้มีโอกาสเข้าไปชมศิลปะภายในพระอุโบสถวัดอุภัยราชบำรุง เพราะโดยปกติวัดจะไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม ยกเว้นช่วงพระทำวัตรเช้าเวลาประมาณ 07:00 น. และช่วงทำวัตรเย็นเวลาประมาณ 16:00 น. ของทุกวันเท่านั้น

ภายในอุโบสถแห่งนี้ ให้อารมณ์ความรู้สึกเหมือนกับวัดจีน แต่ก็มีหลายละเอียดหลายอย่างที่แตกต่างและน่าสนใจ เช่น พระประธานปางสมาธิขนาดใหญ่ครองจีวรแบบจีน ส่วนบนสุดของเศียรพระเป็นทรงดอกบัวตูม สื่อถึงความบริสุทธิ์ เบื้องหน้าของพระประธานมีรูปปั้นพระอัครสาวก คือพระมหากัสสปะและพระอานนท์ โดยพระมหากัสสปะมีใบหน้าเหมือนคนสูงวัย ส่วนพระอานนท์มีใบหน้าหนุ่ม ซึ่งแตกต่างจากวัดอื่นที่เราเห็นได้ทั่วไป ซึ่งมักจะใช้พระอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า คือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะในวัยหนุ่มทั้งคู่

ความพิเศษยังไม่จบแค่นั้น เพราะวิทยากรชวนดูไปจนถึงรายละเอียดของเล็บของมังกรบนเสาค้ำพระอุโบสถ ที่นี่เป็นลวดลายมังกรห้าเล็บ ซึ่งเชื่อกันว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ หรือผู้มีบุญญาธิการได้ครองราชย์ต่อไป ส่วนกระเบื้องปูพื้นด้านในอุโบสถก็มีความพิเศษได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 เป็นกระเบื้องเก่าแก่สีครามน้ำเงินขาว มีทั้งลายทั่วไปและลายเถาไม้สวยงาม 

หลังกราบพระประธานในพระอุโบสถแล้ว ก็ได้ขึ้นไปศาลาบูรพาจารย์ ซึ่งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ ภายในเป็นที่ตั้งโต๊ะบูชาบูรพาจารย์ มีรูปปั้นอดีตเจ้าอาวาสรุ่นเก่า และร่างของพระครูคณานัมสมณาจารย์ เจ้าอาวาสรูปที่ 4 ซึ่งไม่เน่าเปื่อย ทางวัดจึงนำร่างมานั่งบนเก้าอี้และประดิษฐานบนโต๊ะบูรพาจารย์ให้ผู้คนได้กราบไหว้เรื่อยมา

ทัวร์เดินเท้าปักหมุดสุดท้ายกันที่วัดญวนตลาดน้อยแห่งนี้ แต่ลูกทัวร์บางคนก็เลือกเดินตามผู้นำชุมชนตลาดน้อยไปเที่ยวชมวิถีชีวิตและเลือกซื้อสินค้าในงานตลาดน้อยที่จัดกันเป็นประจำทุกวันเสาร์และอาทิตย์ต้นเดือน แต่โดยทั่วไปในวันอาทิตย์ จะเป็นวันที่ย่านนี้ค่อนข้างสงบเงียบ เพราะร้านรวงของคนท้องถิ่นจะหยุดพักผ่อนกันในวันอาทิตย์ และจะเปิดทำการกันในช่วงวันจันทร์-เสาร์

วิธีเดินทางมาที่ย่านตลาดน้อย

  • นั่งรถไฟฟ้า MRT ลงสถานีหัวลำโพง และเดินเท้าไปตามเส้นทางถนนมหาพฤฒาราม เข้าสู่ถนนเจริญกรุง หรือต่อมอเตอร์ไซค์จาก MRT ไปที่ย่านตลาดน้อย
  • นั่งเรือด่วนเจ้าพระยา ลงที่ท่ากรมเจ้าท่า ท่าสี่พระยา หรือเรือข้ามฟากท่าสี่พระยา
  • นั่งรถเมล์ สาย 1, 35, 4-19 (108), 75, 3-35 (1), 3-52, 4-13 (75), 45, 93  และ ปอ. 36
  • ขับรถยนต์ส่วนตัว มีที่จอดบริเวณวัดมหาพฤฒารามวรวิหารหรือที่จอดรถของเอกชนในย่านตลาดน้อย เช่น วัดญวนตลาดน้อย หรืออาคาร River City