อาคารเก่า แต่เราอาจยังไม่ได้เก็บ
ท่ามกลางการเติบโตอย่างรวดเร็วของ ‘สาทร’ ย่านเศรษฐกิจใจกลางเมือง มีบางสิ่งกำลังค่อย ๆ เลือนหายไปตามกาลเวลาโดยที่เราอาจไม่ทันได้สังเกตเห็น สิ่งที่แม้จะตั้งตระหง่านพิสูจน์กาลเวลามาแล้วหลายสิบปี ก็ยังหนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงที่คลืบคลานเข้ามาอยู่ทุกชั่วขณะ เรากำลังพูดถึง “สถาปัตยกรรมโมเดิร์น” รูปแบบของสถาปัตยกรรมสากลนิยมที่สัมพันธ์กับชีวิตคนไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
เพื่อบันทึกเสน่ห์อันสวยงามของอาคารเก่าแต่ควรเก็บเหล่านี้ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ในฐานะเจ้าถิ่นย่านสาทร จึงรังสรรค์กิจกรรมดี ๆ Sathorn through the Lens↗ มาร่วมในเทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ Learning Fest Bangkok 2024 เพื่อชวนทุกคนมาเก็บเรื่องราวและภาพปรากฏของย่านสาทรในปัจจุบันด้วยฝีมือการถ่ายภาพ นำเวิร์กช็อปโดยช่างภาพมืออาชีพ คุณเบียร์ วีระพล สิงห์น้อย ช่างภาพสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น เจ้าของเพจ ‘Foto_Momo’ มาแชร์เทคนิคการถ่ายภาพที่จะทำให้เราเก็บดีเทลและเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมได้อย่างครบถ้วนที่สุด ก่อนให้ทุกคนงัดเอาเทคนิควิธีมาใช้กันผ่านทริป photo walk เดินเก็บภาพอาคารโมเดิร์นย่านสาทรกันอย่างจุใจ
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้แม้จะไม่มีพื้นฐานในการถ่ายภาพ หรือ อุปกรณ์การถ่ายภาพแบบมืออาชีพเลยก็ตาม เพียงแค่มีกล้องตัวเล็ก ๆ หรือกล้องจากโทรศัพท์มือถือก็เพียงพอ เพราะคุณเบียร์ตั้งใจถ่ายทอดให้กับทุกคน ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานที่สุด ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา คนที่มีใจรักด้านการถ่ายรูป หรือวัยเก๋าก็มาร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกันได้
“โมเดิร์น” คำว่าใหม่ที่หมายถึงเก่าแล้ว
แม้คำว่า “โมเดิร์น” หรือ “สมัยใหม่” จะมีความหมายเเละเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไปในบริบทสังคมโลก แต่สำหรับประเทศไทย ความโมเดิร์นของอาคารบ้านเรือนนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ที่วงการนักออกแบบและสถาปนิกหันไปนิยมดีไซน์ที่มีความเป็นสากลมากขึ้นด้วยอิทธิพลจากโลกตะวันตก ลักษณะของสถาปัตยกรรมไทยจึงถูกลดทอนลงไป และถูกแทนที่ด้วยรูปลักษณ์และวัสดุใหม่ ๆ ตามเทคโนโลยีในสมัยนั้น เช่น คอนกรีต กระจก เหล็ก ฯลฯ
ต่อเนื่องมาถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สภาวะเศรษฐกิจเร่งเร้าให้ทั่วโลกละทิ้งเทคนิคเดิม ๆ และความประดิดประดอยในการก่อสร้าง แล้วเปลี่ยนมาใช้คอนกรีตที่ก่อสร้างได้รวดเร็ว แข็งแรง ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวแบบ “โมเดอร์นิสต์” ในวงการสถาปัตยกรรมโลก ตึกคอนกรีตถึงถือกำเนิดขึ้นมากมาย จนกลายเป็นความปกติใหม่ของสังคมโลก
เมื่อนานวันเข้า อาคารคอนกรีตเหลี่ยมมุมแข็งแรงที่มากไปด้วยประวัติศาสตร์เหล่านั้นก็ทรุดโทรมลง บ้างก็ขาดการบูรณะ ถูกละเลยขาดคนดูเเล ตึกใหม่ ๆ ก็ถูกสร้างขึ้นมาแทนที่ ทั้งที่อาคารเก่าบางแห่งมีศักยภาพในการเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการถูกทำลายทิ้งได้เมื่อถึงเวลา การถ่ายภาพจึงเป็นวิธีที่คนทั่ว ๆ ไปจะเก็บสะสมเรื่องราวประวัติศาสตร์เอาไว้ได้ กรณีที่ไม่ได้มีอำนาจในการกำหนดชะตากรรม หรือย้อนเวลา
เก็บก่อนเลือนหาย
นอกจากความสำคัญแง่ของการบันทึกประวัติศาสตร์แล้ว คุณเบียร์ยังเล่าว่า “การถ่ายรูปเป็นวิธีดึงเสน่ห์ของอาคารออกมา เป็นการจุดประกายให้คนเห็นคุณค่าของสถาปัตยกรรมมากขึ้น” อีกทั้งคนและสถาปัตยกรรม ก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก ๆ ไม่ว่าเราจะไปกินข้าว ดูหนัง ไปโรงเรียน หรือไปวัด พื้นที่ที่เรายืนอยู่ก็คือสถาปัตยกรรม เพราะฉะนั้น สถาปัตยกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คนทั่วไปควรจะสังเกตและบันทึกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมของตัวเอง
คุณเบียร์แบ่งการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมออกเป็น 2 แบบ
1. ภาพแบบเจาะดีเทล
การซูมเข้าไปที่องค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง เพื่อให้เห็นรายละเอียดเล็ก ๆ ของตัวอาคาร เช่น ภาพรายละเอียดของฟาซาดอาคาร (facade)
2. ภาพมุมกว้าง
มุมมองที่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวอาคารด้วย คุณเบียร์เน้นย้ำว่าภาพถ่ายสถาปัตยกรรมสามารถถ่ายได้หลายแบบ จะเห็นองค์ประกอบรอบตัวอาคารเช่น ผู้คน หรือ ต้นไม้ก็ไม่เป็นไร เงื่อนไขเดียวคือตัวอาคารต้องเป็นพระเอก การถ่ายแบบนี้มีข้อดีคือทำให้เห็นบริบทของสังคมในช่วงเวลานั้น ๆ ด้วย
ถัดมา คุณเบียร์เล่าถึงวิธีคิดและวิธีการมองแบบสถาปนิกแบบพื้นฐาน โดยมี 3 เทคนิค ดังนี้
1. Dot/Line/Plane (จุด/เส้น/ระนาบ)
องค์ประกอบที่เราควรจะสังเกตในการถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพสามารถเลือกได้เองว่าอยากนำเสนอระนาบ (ภาพรวม) หรืออยากให้ดีเทลเล็ก ๆ เป็นจุดเด่น ในการมองแบบระนาบ ภาพที่มีความสมมาตรจะให้ความรู้สึกมั่นคง แสดงถึงระเบียบและความพิถีพิถัน
2. Light & Shadow (แสงและเงา)
แสงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสื่ออารมณ์ของภาพถ่าย การคำนึงถึงสภาพอากาศ และช่วงเวลาในการออกไปแชะภาพจึงสำคัญ อยากให้ภาพอารมณ์สดใส ก็ควรเป็นวันฟ้าเปิดในช่วงกลางวัน แต่ถ้าอยากได้ภาพอารมณ์หม่น ๆ การออกไปถ่ายในช่วงค่ำจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
3. Context & Timing (บริบทและช่วงเวลา)
บางภาพก็ต้องรอจังหวะ บางทีคนที่เดินผ่านไปมา หรือเเม้แต่รถที่จอดอยู่หน้าอาคาร ก็เพิ่มสีสันและความน่าสนใจให้กับภาพถ่ายสถาปัตยกรรมได้ คุณเบียร์แชร์ให้เราฟังว่า กับบางแห่งเขาต้องไปเฝ้าอยู่ที่เดิมถึง 4 ครั้งกว่าจะได้ภาพถ่ายเท่ ๆ ออกมาได้
ได้เวลาลงสนามจริง!
เส้นทางการเดินของกิจกรรมนี้ ประกอบไปด้วยสถาปัตยกรรมหลากหลายรูปแบบในย่านสาทร เน้นอาคารคอนกรีตที่ได้รับอิทธิพลจากต่างชาติเป็นหลัก หลังการนัดพบและฟังบรรยายจากคุณเบียร์ที่สถาบันเกอเธ่ ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมเยอรมันในอาคารสไตล์โคโลเนียลยุครัชกาลที่ 5 คณะก็ออกเดินทางไปยัง ‘สถานทูตเยอรมัน’ เพื่อชมสถาปัตยกรรมภายนอก แถมด้วยการชมชิ้นส่วนของกำแพงเบอร์ลินของจริง ตามด้วย ‘หอพักนักศึกษาหญิงธรรมศาสตร์’ อาคารคอนกรีตเก่าย่านสาทร ที่หลายคนผ่านไปผ่านมาแต่ไม่เคยสังเกตเห็น ซึ่งกลายเป็นโลเคชั่นโปรดของผู้ร่วมทริปหลายคน ฟาซาดที่เด่นเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ทำเอาผู้ร่วมทริปทุกคนอดใจไม่ได้ที่จะหยิบกล้องขึ้นมาซูมถ่ายตามเทคนิคที่ได้เรียนรู้กันไป
ปิดท้ายด้วย ‘อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ’ โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ตัวอย่างของอาคารยุคปัจจุบัน ที่ไม่ได้มีแค่รูปแบบอาคารที่สวยและทันสมัย แต่ยังดีต่อสุขภาวะของผู้ที่มาใช้งานและสิ่งแวดล้อม ทั้งการออกแบบอาคารที่มีพื้นที่สีเขียวที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ให้ผู้ใช้งานอาคารไม่เครียดจนเกินไป มี “บันไดดนตรี” ที่ส่งเสริมให้คนเคลื่อนไหวร่างกายผ่านการเดินขึ้นบันไดมากขึ้น แถมตัวอาคารยังได้รับการออกแบบให้ถ่ายเทอากาศได้ดี และรับแสงแดดอย่างเพียงพอ ไม่สิ้นเปลืองพลังงานอีกด้วย
หลังจบงาน หลายคนให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า “ได้มองสิ่งที่เห็นอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ผ่านมุมมองใหม่” เพราะการได้มองสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ผ่านเลนส์ ทำให้ได้ใส่ใจกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ รายรอบตัวเองมากขึ้น นอกจากนี้ สิ่งที่ได้เรียนรู้ก็สามารถเอาไปปรับใช้กับสถาปัตยกรรมสไตล์อื่น ๆ ที่พบเห็นระหว่างเดินทางได้ จึงเกิดทั้งการเรียนรู้ ความประทับใจ ลักษณะนิสัยใหม่ และผลงานอันน่าภาคภูมิใจไปพร้อม ๆ กัน