![](https://learningfest.tkpark.or.th/wp-content/uploads/2024/10/007-2.jpg)
Read For Change เพราะอ่านจึงเปลี่ยน
การอ่านคือกิจกรรมส่วนตัว เพราะกระบวนการรับรู้และการตกตะกอนเนื้อหาสู่ความเข้าใจล้วนเกิดขึ้นภายในตัวปัจเจกบุคคล ดังนั้นเมื่อมองจากภายนอก การอ่านจึงดูเป็นกิจกรรมที่ราบเรียบ ไม่ได้นำไปสู่สิ่งที่เป็นสลักสำคัญอะไร ทว่าเมื่อมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ สถานการณ์ทางการเมืองที่แตกแยกรุนแรงหลายครั้ง มักมีการสกัดกั้นการเผยแพร่และทำลายหนังสือ เพื่อต่อต้านการอ่านเนื้อหาที่ดูเป็นภัยต่อผู้มีอำนาจ นั่นอาจเป็นเพราะแท้จริงแล้ว การอ่านนั้นมีพลังการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่และแพร่ไปได้เป็นวงกว้าง
ที่เทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ Learning Fest Bangkok 2024 ร้านหนังสืออิสระ Books & Belongings จัดงาน Read for Change↗ กิจกรรมเสวนาเล็ก ๆ เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการอ่าน กระบวนการคิดการตีความ การถกเถียงกับความเห็นที่แตกต่าง และความเปลี่ยนแปลงที่สืบเนื่องมาจากการอ่าน
โลกของตัวอักษรกว้างใหญ่ไพศาลดั่งมหาสมุทร แต่การอ่านของใครสักคนย่อมต้องเริ่มจากที่ไหนสักแห่ง ศาสตราจารย์สรวิศ ชัยนาม อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักเขียน ซึ่งเป็นผู้นำการสนทนาในครั้งนี้ จึงมาแชร์จุดเริ่มต้นของประสบการณ์การอ่าน พร้อมทั้งมุมมองส่วนตัว รวมถึงการตกตะกอน การเปลี่ยนแปลงทางความคิด การอภิปราย จนกลายเป็นข้อสรุปและข้อเขียนที่กลายเป็นหนังสือให้ผู้อื่นอ่านต่อไป
เล่มแรกถ้าใช่ เล่มต่อไปก็ไม่ยาก
หลายคนอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่ถนัดอ่านหนังสือ แต่อาจเป็นไปได้ว่าคนคนนั้นอาจยังไม่พบหนังสือแบบที่ถูกจริตกับตัวเอง หากบางคนต้องเริ่มต้นด้วยหนังสือแบบเรียน ที่มักเล่าเนื้อหาด้วยความจริงจัง ขาดอรรถรส ก็มีแนวโน้มว่าจะเข็ดขยาดแล้วโบกมือลาการอ่านได้ง่าย ๆ สรวิศในวัยเด็กก็เช่นกัน
สำหรับสรวิศ จุดเปลี่ยนที่ทำให้เขารับรู้ว่าการอ่านสนุกได้นั้น มาจากเรื่อง ‘หมีน้อยแพดดิงตัน’ (Paddington) วรรณกรรมคลาสสิกสำหรับเด็ก ที่บอกเล่าการผจญภัยของของหมีสวมเสื้อโค้ทสีฟ้าและหมวกสีแดง ในโลกที่อะไร ๆ ก็เป็นเรื่องใหม่และน่าสนุกไปหมด
หลายปีต่อมา สรวิศในวัยมหาวิทยาลัยต้องอ่านหนังสือปรัชญามากถึง 4 เล่มต่อสัปดาห์ แต่เมื่อเขาคุ้นชินกับการอ่านเป็นทุนเดิม การอ่านความเรียงขนาดยาวย่อมไม่ใช่เรื่องยาก และเนื้อหาที่เข้มข้นก็มาพร้อมกับคำถามที่น่าสนใจเรียงต่อกันไปได้เรื่อย ๆ บวกกับฝีไม้ลายมือในการเขียนของนักเขียนเก่ง ๆ หลายคนก็ส่งผลต่ออารมณ์ระหว่างอ่าน และนำไปสู่การตีความที่แสบสันที่ตัวเขาในฐานะผู้อ่านกระทำการต่อผลงานของนักเขียนอยู่ตลอดเวลาท่ามกลางความเงียบของการอ่าน
ตัวอย่างเช่น Friedrich Nietzsche นักปรัชญาผู้โด่งดัง ผลงานการเขียนของเขาชวนประเมินคุณค่าสิ่งรอบตัวกันใหม่ อะไรที่เคยเชื่อมั่นกันมาว่าดีนั้นดีจริงไหม สรวิศให้ความเห็นว่างานเขียนของเขาอ่านเพลินทีเดียว และอีกตัวอย่างคือ Noam Chomsky นักปรัชญาเจ้าของสำนวนการเขียนเสียดสีกระแนะกระแหน สอดรับกับเนื้อหาหนักหน่วง ที่รวมกันแล้วสร้างแรงสั่นสะเทือนได้ดั่งแต่ในใจผู้อ่าน
จริงอยู่ที่สำนวนการเขียนและการแปลส่งผลต่อความเพลิดเพลินในการอ่าน แต่อย่างไรก็ดี ความหลงใหลในเนื้อหาและความคุ้นชินที่เกิดจากการอ่านอย่างเคี่ยวกรำซ้ำ ๆ การอ่านเล่มต่อ ๆ ไปก็จะง่ายขึ้น โดยสิ่งที่เปลี่ยนไปคือผู้อ่านเริ่มมองหาความสนุกในสิ่งที่อ่านเจอ
หนังสือเปลี่ยนโลก เพราะโลกต้องเปลี่ยนแล้ว
หนังสือบางเล่มนำเสนอข้อมูลและมุมมองใหม่เพื่อบ่งบอกว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้คนต้องรับรู้เรื่องราวเหล่านี้
เพราะข้อมูลชุดใหม่ ๆ จะช่วยให้เราจินตนาการออกห่างจากความคุ้นเคย นี่คือประเด็นสำคัญเพราะข้อมูลใหม่นำไปสู่การตีความใหม่ และย้อนไปท้าทายความเชื่อหรือความคิดเดิม ข้อสรุปใหม่ที่เกิดขึ้นจึงอาจทำให้ผู้คนปรับวิธีคิดและวิถีชีวิตให้ต่างออกไป ยิ่งไปกว่านั้น การอ่านยังทำให้เกิดนิสัยการตั้งคำถาม และขบคิดลึกซึ้งเพื่อรื้อสร้างสิ่งที่เป็นปกติอยู่เสมอ ยิ่งนำมาถกเถียงหารือหรือแบ่งปันข้อคิดเห็นกับผู้อื่น ไม่ว่าจะในรูปแบบไม่เป็นทางการ หรือบนเวทีแลกเปลี่ยนที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย ก็ย่อมจะส่งผลดีต่อสังคมในภาพรวม
ในยุคหนึ่ง ผู้คนเข้าใจว่าพระเจ้าสร้างโลกและสรรพสิ่งขึ้นมาประดับโลกเสร็จสมบูรณ์ภายใน 7 วัน กระทั่งหนังสือเล่มหนึ่งถูกเผยแพร่ มันสั่นสะเทือนวงการศาสนาและวิทยาศาสตร์ทั่วโลก หนังสือเล่มนั้นคือ ‘The Origin Species’ โดย ชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่กล่าวถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตจากการเดินทางสำรวจแหล่งชีวภาพจากหลายแห่งทั่วโลก
ในวงการเศรษฐกิจและสังคมการเมือง หนังสือที่สร้างปรากฏการณ์ทัดเทียมกันก็หนีไม่พ้น ‘The Communist Manifesto’ ที่แม้แต่นายทุนเองก็ยังกลับไปอ่านซ้ำ ๆ ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อทำความเข้าใจชนชั้นแรงงานและกลไกของทุนนิยม
อย่างไรก็ดี งานเขียนทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นมุกตลกโปกฮาหรือวรรณกรรม ล้วนกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งนั้น ขอแค่ผู้อ่านได้ตกตะกอนอะไรบางอย่างจากหนังสือ และพกพาความคิดนั้นไปสู่การริเริ่มหรือร่วมขับเคลื่อนเพื่อคุณค่าบางอย่างที่ได้รับจากการอ่าน
การอ่าน สู่การยอมรับความเห็นต่าง
หนังสือเล่มเดียวกัน แต่คนอ่านหลายคน ก็อาจเข้าใจและสรุปสาระสำคัญได้ต่างกัน ดังนั้น หากอ่านหนังสือเล่มใดแล้วไม่อยากเก็บเรื่องราวและความรู้สึกไว้คนเดียว การพูดคุยกับคนอื่นที่อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน หรือคนที่มีประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างจากเรา อาจช่วยให้เราลับคมสมองจนแนวคิดเฉียบคม และค้นพบประเด็นมากมายที่แตกต่างกันออกไป เพราะการได้บอกเล่า โต้แย้งและหาเหตุผลสนับสนุนอาจนำไปสู่ข้อสรุปร่วมกันใหม่ก็ได้
ยกตัวอย่างเนื้อเพลงจากบทเพลงที่ชอบ บางคนอาจฟังผิดตั้งแต่แรก แล้วจดจำมาตลอดว่าเนื้อเพลงเป็นเช่นนั้นจริง จนกระทั่งได้เข้าไปอ่านเนื้อเพลง หรือพบกับแฟนเพลงอีกคนที่มาทลายสิ่งที่เราเคยเชื่อมาตลอด ดังนั้น สิ่งที่ควรทำต่อจากนี้คือขุดลึกลงไปในความคิดของตัวเอง พร้อมถามว่าทำไมถึงชอบ ทำไมถึงเชื่อแบบนั้น สิ่งที่เราเคยเชื่อตรงกันกับความจริงหรือความเชื่อของคนอื่นหรือเปล่า
“การบิดเบือนเป็นส่วนหนึ่งของคอนเซปต์ และคอนเซปต์มีชีวิตยาวไกลกว่าจุดกำเนิดของมัน คนที่คิดต่อจะดึงไปในทิศทางไหน นำไปสู่การถกอะไร นำไปใช้ประโยชน์อย่างไร” สรวิศกล่าว
การบิดเบือนตอบโต้ได้ด้วยการเปิดกว้างต่อความเห็นต่าง หากเราแต่ละคนย้อนกลับไปอ่านสเตตัสเก่า ๆ บนเฟซบุ๊กของตัวเอง น่าจะพบว่าเราในวัยนั้นต่างเราคนปัจจุบันจนแทบเป็นคนละคน แต่ทุกคนสามารถหาโอกาสย้อนกลับไปทำความเข้าใจ คิดหาเหตุผลว่าทำไมสิ่งนั้นถึงไม่เหมาะสม เพื่อลดโอกาสเกิดซ้ำ
เมื่อได้พูดคุยกับผู้อื่นโดยการรับฟังโดยไม่ตัดสิน ท้ายที่สุดแล้วบางคนอาจจะเปลี่ยนไปเห็นด้วยกับแนวคิดของผู้อื่นก็ได้ เพราะได้เปิดมุมมองที่แปลกใหม่ ทลายความเชื่อเดิม
‘พื้นที่ปลอดภัย’ ในการพูดคุย จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ในเรื่องนี้ สรวิศเห็นว่า การได้พูดอย่างเต็มที่เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกัน ทั้งนี้ เพื่อสกัดไม่ให้เกิดหมวดหมู่ที่ปลอดภัยและหมวดหมู่ที่ไม่ปลอดภัยในการพูดคุย เพราะหากมีการแบ่งแยกเช่นนี้แล้ว จะทำให้บางประเด็นสำคัญและบางความเห็นถูกปัดตกโดยอัตโนมัติ เพราะผู้ฟังตั้งใจแน่วแน่อยู่แล้วว่าจะไม่เปิดรับเรื่องราวเหล่านี้
โดยสรุป การอ่านคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในตัวนักอ่าน แต่ขั้นต่อมาคือการพูดคุยบนพื้นที่แลกเปลี่ยน และการร่วมมือกันเพื่อผลักดันสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทุกคนหันหน้าเข้าหากัน แชร์แนวคิดที่ได้จากการอ่าน แสดงความเห็นโดยมีเหตุผลหรือหลักฐานสนับสนุน ส่วนผู้ฟังก็รับฟังด้วยความตั้งใจและพร้อมทำความเข้าใจนั่นเอง
Related post
Organizers
![](https://learningfest.tkpark.or.th/wp-content/uploads/2023/08/organizer1.png)
![](https://learningfest.tkpark.or.th/wp-content/uploads/2023/08/organizer2.png)
![](https://learningfest.tkpark.or.th/wp-content/uploads/2023/08/organizer3.png)
![](https://learningfest.tkpark.or.th/wp-content/uploads/2023/08/organizer41.png)