Home

LFBKK2024 ซ่อนอะไรไว้ในการเล่นสนุก?

เทศกาลคือเหยื่อล่ออันโอชะ ที่ผู้ใหญ่จะสามารถนำการเรียนรู้ที่อยากให้เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ มาซ่อนไว้ภายใต้เกราะกำบังที่ชื่อว่าความสนุก

ที่เทศกาลเรียนรู้กรุงเทพฯ Learning Fest Bangkok 2024 อุทยานการเรียนรู้ TK Park จึงชักชวนกลุ่มคนที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ มาร่วมกันอำนวยความสนุกด้วยสารพัดวิธีและหลากหลายกระบวนท่า

บทความนี้ยกตัวอย่างกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กจาก Learning Fest Bangkok 2024 จำนวน 3 กิจกรรม ที่บรรดาผู้ใหญ่แอบซ่อนอุปกรณ์การเรียนรู้ที่ทรงพลังเอาไว้ในกิจกรรมที่พวกเขาจัดขึ้นได้อย่างแนบเนียน

 

Nature Head Hand Heart วาดเล่นได้ เพื่อเรียนรู้

มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ หรือ BIG Trees Foundation นำโดยพี่กบ อนันตา อินทรอักษร พี่ปองขวัญ และพี่อังตวน ลาซซูส เข้าครองพื้นที่ห้องเด็ก TK Park จัดกิจกรรม Nature Head Hand Heart วาดเล่นได้ เพื่อเรียนรู้ ชวนเด็ก ๆ หยิบจับเลือกวัตถุธรรมชาติที่ตัวเองชอบจากกองกลางที่คละกันอยู่ เอามานั่งมองและวาดภาพเหมือน จากนั้นก็บอกเล่าเหตุผลให้เพื่อน ๆ ในกลุ่มฟังว่า ทำไมจึงเลือกวัตถุชิ้นนั้นมาเป็นแบบ

กิจกรรมนี้ต้องการให้เด็ก ๆ นำมือเล็ก ๆ ของตัวเองมาแตะต้อง และดวงตามาจับจ้องวัตถุในธรรมชาติ สร้างประสบการณ์แบบ hands-on ที่การดูผ่านจอและการสัมผัสของจำลองให้ไม่ได้ วิธีนี้ยังเชื้อเชิญให้เกิดความอยากรู้ว่าสิ่งที่เด็ก ๆ ถืออยู่นั้น คือองค์ประกอบใดของต้นไม้ เป็นใบ ดอก หรือเมล็ด มีสัมผัสแบบไหน ต้องวาดรายละเอียดและเลือกสีไม้สีไหนมาเทียบเคียงเพื่อระบายสีให้ออกมาดูคล้ายของจริงที่สุด แล้ววัตถุชิ้นนี้สำคัญอย่างไรต่อการดำรงอยู่ของต้นไม้ต้นนั้น สัมพันธ์อย่างไรกับเหล่าสัตว์และสิ่งอื่นข้างเคียง รวมถึงได้ลองนึกตามว่าอะไรอยู่ตรงไหนในวัฏจักรอันซับช้อนของธรรมชาติ เริ่มจากวัตถุเล็ก ๆ ชิ้นเดียวในมือของตัวเอง

นอกจากนี้ พี่ ๆ วิทยากรยังกระตุ้นให้เด็ก ๆ แต่ละคนจินตนาการ ผูกโยงเรื่องราว เพื่อบอกเล่าความตั้งใจและข้อสังเกตของตัวเองจากการวาดภาพเหมือนให้เพื่อน ๆ ในกลุ่มฟัง ให้เด็ก ๆ ตระหนักรู้ว่าเราแต่ละคนต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม คนรอบตัว และระบบนิเวศด้วยเช่นเดียวกัน

 

Love to Play-Play to Love “เปลี่ยนเล่นให้เป็นรักษ์”

พื้นที่กิจกรรม Love to Play-Play to Love “เปลี่ยนเล่นให้เป็นรักษ์” ของทีมงาน PlanToys อบอวลไปด้วยเสียงหัวเราะและความสนุกสนาน เพราะกิจกรรมนี้ให้เด็ก ๆ ได้ปลดปล่อยจินตนาการถึงเมืองในฝัน วาดแผนผังเมืองลงบนกระดาษแผ่นยักษ์ จากนั้นก็ลงมือสร้างเมืองจำลองด้วยบล็อกไม้ แชร์ไอเดียกับเพื่อน ๆ ช่วยกันจินตนาการว่าชาวเมืองจะใช้ชีวิตร่วมกันอย่างไร อาจเกิดปัญหาหรืออุปสรรคอะไรในการใช้ชีวิต และช่วยกันออกแบบวิธีแก้ปัญหาสถานการณ์จำลองนั้นกันเอง

ระหว่างที่เด็ก ๆ เพลิดเพลินกับการเล่นสนุก พวกเขาก็ได้เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านการสร้างเมืองจำลอง ที่เปรียบเสมือนโลกที่เด็ก ๆ อยู่อาศัยจริง พวกเขาได้เห็นว่าสถานการณ์ท้าทายต่าง ๆ เช่น มลพิษหรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อเมืองจำลองอย่างไรบ้าง ทำให้เข้าใจความสำคัญของการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และรู้ว่าทุกการกระทำของคนเราส่งผลกระทบต่อโลกใบนี้ เกิดความรักและหวงแหนสิ่งแวดล้อม อยากมีส่วนร่วมดูแลให้โลกน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

กิจกรรมนี้มองคนรุ่นอนาคตอย่างเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง ด้วยการมอบพื้นที่และภาระความรับผิดชอบให้ แม้จะเป็นในรูปแบบจำลอง แต่เมื่อเด็ก ๆ ได้รวมตัวกันและร่วมมือกันด้วยความเชื่อ จินตนาการก็ทำให้ความรับผิดชอบนั้นเสมือนจริงขึ้นมา ภาระหน้าที่ต่อเมืองจึงเป็นสิ่งที่ละทิ้งไม่ได้ กิจกรรมนี้จึงไม่เพียงแต่สร้างรอยยิ้ม แต่ยังปลูกฝังความรับผิดชอบและจิตสำนึกรักษ์โลกให้กับเด็ก ๆ ผ่านการเล่นอย่างสร้างสรรค์ 

 

MUSEUM2124: ทุกวาระเร่งด่วนหมด โปรดงดตื่นตระหนก

ที่มิวเซียมสยาม นิทรรศการ MUSEUM2124: ทุกวาระเร่งด่วนหมด โปรดงดตื่นตระหนก (MUSEUM2124: Don’t Panic, Everything is Urgent!) CREAM Bangkok และ คุณแม่นิดนก พนิตชนก ดำเนินธรรม เจ้าของเพจ NidNok มาเปิดคลังสรรพสิ่ง ซึ่งเป็นผลผลิตจากการเป็นโต้โผชวนนักท่องอนาคตไปเก็บหลักฐานการมีอยู่ของโลกในปี 2124 หรืออีก 100 ปีนับจากนี้ แต่ปัญหาคือเครื่องท่องเวลา หรือ Time Machine มีขนาดเล็กนิดเดียว ผู้ใหญ่ใส่ตัวเองเข้าไปไม่ได้นี่สิ!

ไอเดียเล็ก ๆ นี้จึงเกิดเป็นกิจกรรมระดมพลนักท่องเวลาวัยประถมศึกษา ที่แวะเวียนมาเปิดโลกจินตนาการกันหลังเลิกเรียนในแต่ละวันที่โรงแรมครีม ออกไปมองโลกในปี 2124 แล้วกลับมาบอกเล่าสิ่งต่าง ๆ ที่ตัวเองพบเจอในรูปแบบบันทึก คำสัมภาษณ์ แถมเด็ก ๆ บางคนยังใจดี เอาวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่หาหรือรับบริจาคมาได้ มาทำแบบจำลองของนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคตให้ผู้ใหญ่ที่ติดอยู่ในปี 2024 ได้เห็นกันในนิทรรศการนี้ด้วย

วัตถุจัดแสดงแต่ละชิ้นในนิทรรศการ MUSEUM2124 ถูกสร้างขึ้นจากสิ่งของ “เท่าที่มี เท่าที่ได้” ให้ได้มากที่สุด มีการแปลงร่างขยะและสิ่งของเหลือใช้ เพื่อรับใช้ความคิดและจินตนาการของเด็ก ๆ ที่มีต่ออนาคตอีก 100 ปีข้างหน้า เป็นการใช้วิธีตั้งคำถามปลายเปิดให้เด็ก ๆ ได้โชว์ไอเดียล้ำ ๆ แบบไม่ต้องกลัวถูกปัดตก ปะติดปะต่ออนาคตจากไอเดียของตัวเองและเพื่อน ๆ เกิดเป็นคำตอบมากมายที่อ่านแล้วทำให้เห็นความคิดและมุมมองต่ออนาคตที่พวกเขาฝันถึง เช่น อาหารการกินและของอร่อย การแพทย์ การเรียน การทำงาน กติกาทางสังคม ฯลฯ

“หนูคิดว่ามีสเต็กเนื้อไดโนเสาร์พันปีเพราะในอนาคตมันน่าจะมีการค้นพบฟอสซิล แล้วเราก็สร้างไดโนเสาร์ขึ้นมาใหม่ได้ แล้วคนก็อาจจะอยากกินเป็นสเต็ก” — ฮาชู (8.2 ปี)

“ร้านอาหารก็ อาจจะมีหุ่นยนต์เป็นพนักงานเสิร์ฟเยอะขึ้น แล้วก็อาจจะค้นพบอาหารใหม่ก็ได้ เช่น เคเอฟซีที่เป็นหมูย่าง” — ดีนี่ (9.1 ปี)

“จะไม่มีร้านซูชิสายพานอีกต่อไป เพราะว่าซูชิสายพานมันใช้ไฟฟ้า แล้วอนาคตไฟฟ้ามันก็จะแพงมาก ๆ แล้วน้ำเปล่าก็จะแพงมาก ๆ เหมือนกัน” — สกาย (9.1 ปี)

ทั้งสามกิจกรรมข้างต้นคือตัวอย่างรูปธรรมที่ช่วยให้เราเห็นชัดว่า การเรียนรู้ของเด็ก ๆ เกิดขึ้นได้จากจุดเริ่มต้นบนพื้นที่แห่งจินตนาการ ในบรรยากาศแสนสนุก และการเชื้อเชิญให้เด็ก ๆ มาสร้างประสบการณ์การทำกิจกรรมร่วมกัน ภายใต้เรื่องราวที่เป็นเหมือนระเบียบหลวม ๆ แล้วให้พวกเขาเติมความคิดและผลงานของตัวเองเข้าไป จะสามารถกลายเป็นพื้นฐานสำคัญให้เด็ก ๆ กลายเป็นพลเมืองที่ดี ผู้นำที่มีความรับผิดชอบ และนักประดิษฐ์ที่คิดรอบคอบ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต