ปล่อยกายปล่อยใจ เคลื่อนไหวให้บรรจบกับตัวเอง
เทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ Learning Fest Bangkok 2024 รวบรวมกิจกรรมการเรียนรู้ภายใต้แนวคิด “เปลี่ยน.อยู่.คือ – I change, therefore I am” จากผู้จัดกิจกรรมหลากหลายแนว และหนึ่งในผู้จัดที่ตั้งใจอย่างแข็งขันในการชวนผู้คนมาเปลี่ยนให้ลึกถึงตัวตนฐานราก ก็คือทีมงาน Body Whisper
กิจกรรมเวิร์กช็อป ปล่อยร่าง Ground to Glow [ep. Pain Release Together]↗ มอบสรรพวิธีปลดปล่อยร่างกายให้เคลื่อนไหวอย่างอิสระให้กับผู้เข้าร่วม ที่หนึ่งในนั้นยืนยันว่าร่างกายที่ตัวเองพาเข้าไปกับร่างกายที่พาพ้นกรอบประตูออกมาหลังจบกิจกรรมนั้นเหมือนจะไม่ใช่ร่างเดียวกันอีกต่อไป แถมยังรู้สึกพร้อมออกไปเผชิญกับเรื่องราวความท้าทายที่รออยู่อีกมากมายด้วย
บันทึกต่อจากนี้เป็นสิ่งที่หนึ่งในผู้เข้าร่วมได้สะท้อนประสบการณ์ ความรู้สึก และความประทับใจที่ได้รับจากกิจกรรมปล่อยร่าง Ground to Glow [ep. Pain Release Together] ที่จัดขึ้นที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park โดย Body Whisper ใน Learning Fest Bangkok 2024
ปิดตา เปิดหัวใจ แล้วตามไปทีละโจทย์
วิถีชีวิตของหลายคนในทุกวันนี้ วนเวียนซ้ำเดิมเป็นกิจวัตรคล้ายเครื่องจักร แต่เครื่องจักรยังมีรอบการบำรุงรักษาเพื่อให้คงสภาพมาตรฐาน แต่คนเราไม่ได้เกิดมาพร้อมคู่มือการใช้งานและคำแนะนำจากโรงงานผลิต อาการปวดตึงคอ บ่า ไหล่ หลังส่วนล่าง จึงพบได้เรื่อย ๆ เมื่อใช้ชีวิตกันไปนาน ๆ เข้า
หลังแนะนำตัว วิทยากรจาก Body Whisper ก็ได้แจก “โจทย์แรก” ให้ทุกคนได้อบอุ่นร่างกาย เริ่มจากเดินช้า ๆ ตามจังหวะของตัวเอง แล้วให้ค่อย ๆ เดินเร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นวิ่งแบบไม่คิดชีวิต จินตนาการว่าตัวเองกำลังวิ่งหนีสุนัขที่กำลังไล่กวดเข้ามา
ทุกโจทย์ต่อจากจุดนี้คือโจทย์ปลายเปิด ไม่มีถูกผิด ทุกคนสามารถเคลื่อนไหวและแสดงออกตามที่ตนเองเข้าใจได้อย่างสบาย ๆ และเป็นอิสระ โดยโจทย์ส่วนใหญ่ที่วิทยากรกำลังจะแจกนั้นจะต้องหลับตาทำ หรือถ้าใครไม่มั่นใจที่จะหลับตาสนิท ก็สามารถมองต่ำเพื่อช่วยทรงตัวบนพื้นอย่างมั่นคงก็ได้ แต่ขอให้ “อย่าฝืน” และไม่ต้องสนใจใครอื่น เพราะนักเรียนทุกคนห้องนี้ต่างพกพาความรู้สึก ร่างกาย และประสบการณ์ที่แตกต่างกันมา แต่ละคนจึงควรได้ปลดปล่อยความรู้สึกของตัวเองออกมาผ่านการเคลื่อนไหวของร่างกายจริง ๆ
ปล่อยร่างให้ร่วง
เมื่อร่างกายและสมองปรับเข้าสู่โหมดขยับแล้ว โจทย์ข้อต่อมาคือการยืดตัวและแขนทั้งสองให้ตึงและขยายตัวขึ้นด้านบนให้สูงที่สุด จินตนาการว่ากำลังมีเชือกดึงตัวเราขึ้นไป แต่ต้องยึดเท้าไว้ให้ติดตรึงไว้ที่พื้น แอ่นตัวตามแรงเชือก ก่อนที่เชือกจะคลายออกจากตัวเราไปทีละเส้น ไล่จากนิ้วมือทีละนิ้ว ร่างกายทีละส่วน จนถึงปลายเท้า
เมื่อตัวเราถูกปลดปล่อยออกจากพันธนาการทั้งหมด อิสรภาพก็ทิ้งตัวเราให้ศิโรราบลงกับพื้นและอิ่มเอิบกับความเบาสบาย ที่ร่างกายของเราอาจไม่เคยได้สัมผัสความรู้สึกนี้มานานแสนนาน
ดิน น้ำ ลม ไฟ
ส่วนนี้ของกิจกรรมเป็นส่วนที่ท้าทายจินตนาการ เพราะวิทยากรชวนให้ทุกคนนึกถึงธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม และไฟ แล้วเคลื่อนไหวไปตามภาพที่ปรากฏกับตัวเราเองในหัว
เช่น ลองจินตนาการว่าเรากำลังปั้นดินจากข้างในตัวเราให้เป็นตัวละครสักตัว จนดินก้อนนั้นใหญ่โตขึ้นจนทะลุออกมาจากร่าง และพยายามที่จะก้าวเดินออกมา เราจะรู้สึกอย่างไร บางคนอาจรู้สึกต่อต้าน ช่วยเหลือ ยอมจำนน หรือแม้แต่รู้สึกสับสนก็ได้ เพราะตัวละครที่เราปั้นนั้นอาจจะเดินไม่ได้เพราะเราไม่ได้ปั้นส่วนขา ดังนั้น การเคลื่อนไหวของตัวละครนั้นที่แทรกตัวออกมาจากตัวเราอาจจะลำบากสักหน่อย
เช่นเดียวกันกับเมื่อเราจินตนาการว่าไปเจอกับน้ำไหลเอ่อท่วม เมื่อพ้นจากน้ำก็กลายไปสู่สายลมอ่อน ๆ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นพายุใหญ่ และสุดท้าย ให้เราลองจินตนาการว่ามีไฟแผดเผาอยู่ในร่างกาย เรารู้สึกราวกับตัวเองเป็นกระดาษขาวที่กำลังถูกเปลวไฟเผาผลาญจนหงิกงอเป็นเถ้าสีดำ ก่อนที่เปลวไฟจะขยายวงกว้างออกไป สัมผัสได้ถึงอานุภาพการทำลายล้างที่พร้อมจะทำให้ทุกอย่างแหลกเป็นจุณ
เปิดตา หาคู่
ต่อมาวิทยากรชวนเราลืมตาและทำกิจกรรมเป็นคู่ กับโจทย์หลายโจทย์ที่ทำให้หลายคนยิ้มออกมา เช่น “จงเซ็นชื่อด้วยการใช้ร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้า” ทั้งด้วยการโยกหัว ส่ายหัว กรอกตา หรือใครอยากจะขยับอวัยวะส่วนไหนก็ได้ โดยแต่ละครั้งต้องเซ็นให้จบชื่อ หลังจากนั้นค่อย ๆ เดินเข้าหาคู่ของตัวเองที่อยู่ห่างกันประมาณ 6–7 เมตร ตามด้วยโจทย์ที่ต้องสื่อสารให้คู่ของตัวเองทายคำให้ถูก เช่น เคลื่อนไหวร่างกายเลียนแบบสัตว์ 3 ชนิด เครื่องดนตรี 3 ชนิด เป็นต้น
กิจกรรมรอบนี้เป็นการลับสมอง เพราะต้องสื่อสารและคาดเดากับอีกฝ่ายซึ่งเป็นคนแปลกหน้า แต่ถือว่าสนุกสนานและเพลิดเพลินไปอีกแบบ เพราะการปล่อยตัวปล่อยใจไม่จำเป็นจะต้องอยู่กับตัวเองคนเดียวเท่านั้น คนอื่น ๆ ก็สามารถแลกเปลี่ยนพลังเหล่านี้ไปพร้อมกับเราได้
เคลื่อนร่างตามจังหวะ
โจทย์ข้อต่อมาคือการหลับตาลงอีกครั้งและให้ดนตรีนำพาการเคลื่อนไหวของเราไป โยกย้ายส่ายร่างได้อย่างอิสระในท่ายืนเป็นเวลาราว 10 นาที เริ่มที่เพลงช้า แล้วสลับเร็วบ้าง ตลอดทั้งการเคลื่อนไหว เราอาจตรวจจับการเคลื่อนไหวของคนอื่นรอบตัวแบบเบาบ้าง รุนแรงบ้างเป็นระยะ แต่ไม่มีใครเห็นท่วงท่าลีลาของกันและกัน
บรรจบกับลมหายใจ
กิจกรรมนี้ปิดจบที่การฝึกเทคนิคหายใจหลายแบบที่วิทยากรบอกว่าเป็นเหมือน “ยาวิเศษ” รักษาทั้งโรคทางร่างกายและจิตใจ และเช่นเดียวกับโจทย์ข้ออื่น การหายใจนี้ก็เป็นการทำตามจังหวะของตัวเอง เพราะแต่ละคนมี “จังหวะ” ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นหายใจเข้า หรือหายใจออก
ท้ายที่สุด เราจะได้รู้ว่าจังหวะที่แท้จริงในการหายใจของเราเป็นอย่างไร ในภาวะปกติเราคุ้นชินกับการสูดหายใจลึกเข้าไปแค่ไหน ปล่อยออกไปในอัตราเร็วเท่าใด เว้นจังหวะอย่างไรในการหายใจแต่ละครั้ง และเมื่อมองออกไปในระดับเหนือกว่าลมหายใจ จังหวะการหายใจของเราสัมพันธ์กับส่วนอื่น ๆ ในร่างกายของเราบ้างหรือไม่ รวมถึงเชื่อมโยงกับความรู้สึก และตอบสนองต่อสิ่งเร้าและกิจกรรมที่เราลงมือทำในแต่ละวันอย่างไร