Home

บทเพลงแห่งท้องทุ่ง เมื่อ “พญาคันคาก” บรรเลงผ่านศิลปะยูริธมี่

ไม่ว่าจะแห่งหนไหน บทเพลงและนิทานคือมรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับที่นั้น ๆ มาช้านาน เมื่อนำวรรณกรรมพื้นบ้านภาคอีสานมาประยุกต์เข้ากับ ‘ยูริธมี่’ ศิลปะที่ถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก และเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านท่วงท่าลีลาอันงดงามและสะท้อนความป็นธรรมชาติที่เชื่อมกลับมาที่ตัวตนภายใน 

เพื่ออนุรักษ์วรรณกรรมพื้นบ้านและเครื่องดนตรีดั้งเดิมของไทยในแบบร่วมสมัย สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ร่วมกับหลักสูตรอบรมยูริธมี่แห่งประเทศไทย จึงได้นำนิทานเรื่องพญาคันคากมาถ่ายทอดผ่าน ‘ยูริธมี่’ (Eurythmy) เกิดเป็นการแสดงชุด พญาคันคาก: Eurythmy, Music and Movement ในเทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ Learning Fest Bangkok 2024 การแสดงนี้จึงเป็นการต่อยอดทางศิลปวัฒนธรรม โดยมียูริธมี่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างดนตรี ศิลปะ ภูมิปัญญา และวิถีชีวิตของลูกอีสานเข้าด้วยกัน

ศิลปะยูริธมี่คืออะไร? ไขความลับของการเคลื่อนไหวเปี่ยมจิตวิญญาณ

ยูริธมี่ไม่ใช่แค่การเต้นรำธรรมดา แต่คือการแสดงออกถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างมนุษย์กับจักรวาล เป็นการสำรวจความลับของเสียง ท่วงทำนอง และภาษา ผ่านร่างกายที่เคลื่อนไหวอย่างอิสระและเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณ ศิลปะของยูริธมี่จึงอยู่ที่การเคลื่อนไหวร่างกายที่สอดประสานความคิด ความรู้สึก และเจตจำนงค์ของมนุษย์ เข้าไปในท่วงท่าต่าง ๆ ที่สอดประสานเข้ากับเสียงดนตรีและภาษาพูดได้อย่างลื่นไหล มอบประสบการณ์สุนทรียะในรูปแบบที่หลากหลายสู่ผู้คนทุกเพศทุกวัยได้อย่างลงตัว 

เมื่อนำยูริธมี่มาประกอบกับท่วงทำนองเพลงพิณและเสียงแคนก้องกังวานขับขานเพลงพื้นบ้านของชาวอีสาน ซึ่งเป็นจังหวะสนุก ๆ บนฉากหลังที่ฉายภาพกระท่อมกลางนา สื่อถึงวิถีชีวิตของชาวอีสานยามอรุณรุ่งม ตัวละครในนิทาน ‘พญาคันคาก’ หรือ ‘ตำนานพญาคางคก’ ต้นกำเนิดของประเพณีบุญบั้งไฟและพิธีกรรมขอฝนของชาวอีสาน ทั้งพญาคันคาก พระบิดา พระมารดา พญานาค และสรรพสัตว์ ต่างก็เคลื่อนไหวร่างกายอย่างลื่นไหลไปตามเรื่องเล่าของผู้บรรยายและเสียงดนตรี ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้อย่างลึกซึ้ง ทั้งความรัก ความภักดี ความกล้าหาญ ความโกรธแค้น และความเศร้าโศกเสียใจ

ย้อนกลับไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ยูริธมี่ถือกำเนิดขึ้นโดย ‘รูดอล์ฟ สไตเนอร์’ (Rudolf Steiner) นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา และนักปฏิรูปสังคมชาวออสเตรีย ผู้คิดค้นและเผยแพร่หลักมนุษยปรัชญา (Anthroposophy) ในศตวรรษที่ 19 อีกทั้งรูดอล์ฟยังเชื่อด้วยว่า มนุษย์สามารถเชื่อมโยงกับกฎของจักรวาลผ่านเสียงดนตรีและการเคลื่อนไหวร่างกาย ที่สอดประสานกับคลื่นเสียงนั้น ๆ ได้อย่างกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน  

กระทั่งวันหนึ่งนักแสดงสาวผู้หลงใหลในผลงานของสไตเนอร์อย่าง ‘ลอรี เมเยอร์ สมิธ’ (Lori Mayer Smith) ปรารถนาจะถ่ายทอดบทกวีของเกอเธ่ (Gothe) ผ่านการเคลื่อนไหวที่ลึกซึ้งกว่าศิลปะการแสดงทั่วไป สไตเนอร์จึงได้พัฒนาท่วงท่าในการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยนำพื้นฐานจากความรู้ด้านสุนทรียศาสตร์ ดนตรี และปรัชญา มาหลอมรวมเข้าด้วยกัน เกิดเป็นศิลปะที่ผสมผสานระหว่างสติสัมปชัญญะ (Mindfulness) และการเคลื่อนไหว (Movement) ในรูปแบบร่วมสมัย โดยการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบของยูริธมี่เชื่อมโยงระหว่างร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณของมนุษย์

จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ทำให้ยูริธมี่แผ่ขยายไปสู่วงกว้าง จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนแบบวอลดอร์ฟ (Waldorf Education) ศาสตร์ที่เน้นบ่มเพาะจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็ก ๆ ทั่วโลก ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์ ให้ความสำคัญกับธรรมชาติ สอนให้เด็ก ๆ มีอิสระทางความคิดและรับผิดชอบต่อตนเอง ส่งเสริมด้านภาษาและการสื่อสารผ่านบทกวีและการเล่านิทาน และไม่เน้นการแข่งขัน โดยมีพื้นฐานมาจากแนวคิดมนุษยปรัชญาเพื่อเป็นการพัฒนาเด็กทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณได้อย่างสมดุล

นอกจากนี้ ยูริธมียังเป็นหนึ่งใน ‘ศิลปะบำบัด’ ที่จิตแพทย์ด้าน Anthroposophical นำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นฟูตัวเองแบบ Vitaleurythmy หรือการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อรับมือกับความเครียดเรื้อรัง อาการกล้ามเนื้อตึงล้า อาการเหนื่อยล้าจิตใจ อาการวิตกกังวล ความโกรธและความหงุดหงิดใจ ให้แปรเปลี่ยนเป็นพลังงานในเชิงสร้างสรรค์ ความเปิดกว้างทางจิตวิญญาณ และความยืดหยุ่นของกายใจได้อย่างสุขสงบ

เส้นทางสู่ความเข้าใจ: ยูริธมี่ในบริบทของศิลปะและวัฒนธรรมไทย

ไม่เพียงแต่เป็นการอนุรักษ์วรรณกรรมพื้นบ้านและส่งเสริมให้มีความร่วมสมัย การแสดง “พญาคันคาก: Eurythmy, Music and Movement” ยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Musique de la Vie โดยสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ที่มุ่งเน้นพัฒนาดนตรีแห่งชีวิตและนำไปสู่การบูรณาการดนตรีในชีวิตประจำวัน ทั้งยังเป็นการเปิดมุมมองใหม่ให้นักดนตรีเข้าถึงศาสตร์ยูริธมี่ผ่านบริบทของศิลปะและวัฒนธรรมไทย

“เราเชื่อว่าการอนุรักษ์เริ่มต้นด้วยการเรียนรู้ผ่านศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างลึกซึ้ง ก่อนจะต่อยอดและประยุกต์ใช้ในเชิงสร้างสรรค์ เมื่อเรานำดนตรีคลาสสิคมาผสมผสานกับเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ทำให้เกิดความงามของดนตรีที่มีความหมายในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น อย่างอาจารย์พงษ์เทพ (ดร. พงษ์เทพ จิตดวงเปรม) ที่เล่นวิโอลา (เครื่องสาย) เป็นหลัก พอมาเล่นแคนก็ต้องเข้าใจเครื่องเป่าตั้งแต่การหายใจและต้องคิดแบบใหม่ โดยมีดนตรีเป็นเครื่องมือสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกและความคิดของนักดนตรี ไม่ว่าเครื่องดนตรีชนิดนั้นจะมาจากมุมไหนของโลกก็ตาม”

ผศ.ดร.อโณทัย นิติพน รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันกัลยาณิวัฒนา (ขวาสุด แถวหลัง) พูดถึงแรงบันดาลใจในการนำเครื่องดนตรีพื้นบ้านผสมผสานกับเครื่องดนตรีสากลให้มีความเป็นสากล ขณะเดียวกันนักดนตรีก็ได้เรียนรู้ภาษาใหม่ในการสื่อสารผ่านเครื่องดนตรี โดยมียูริธมี่เป็นเครื่องมือที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงเข้ากับ Inner self Listening หรือ “การฟังเสียงโลกจากภายใน” 

“ยูริธมี่ทำให้เราเข้าใจดนตรีในมุมมองใหม่และสื่อสารผ่านภาษาใหม่ ที่เกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกายควบคู่กับการเล่นดนตรี เมื่อเราแสดงออกด้วยท่าทางที่มาจากความรู้สึกข้างในประกอบการเล่นดนตรี เหมือนเราได้ปลดปล่อยท่วงทำนองที่ดีที่สุดสำหรับเสียง ๆ นั้น ที่สำคัญคือการกลับมาสู่กระบวนการเรียนรู้ภายใน เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบันและแสดงออกผ่านการเคลื่อนไหวร่างกาย เพราะปกตินักดนตรีคลาสสิคจะไม่ค่อยเคลื่อนไหวเท่าไหร่ ขณะเดียวกันยูริธมี่ทำให้เรากลับเข้ามาฟังเสียงที่อยู่ข้างใน และเรียนรู้ที่จะแสดงออกผ่านการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น”

ฉากสุดท้ายของการแสดงเราจึงได้เห็นนักดนตรีและนักแสดง ลุกขึ้นร่ายรำเข้ากับเสียงเพลงพื้นบ้านของชาวอีสาน ทั้งพิณ แคน กลองยาว เพอร์คัสชัน วิโอลา และไวโอลิน สอดประสานเป็นจังหวะสนุก ๆ ที่ชักชวนให้ผู้ชมบางคนถึงกับลุกขึ้นเต้นรำ โดยไม่มีผิดถูกและไร้กฎเกณฑ์ใด ๆ ทุกการเคลื่อนไหวล้วนเป็นอิสระเพื่อเชื่อมต่อกับห้วงอารมณ์ความรู้สึก ประสบการณ์ และจิตวิญญาณ ก่อนที่การแสดงชุดนี้จะจบลงด้วยเสียงปรบมือดังกึงก้องและความประทับใจของผู้ชมในห้องสังคีตวัฒนา

พญาคันคาก: Eurythmy, Music and Movement จึงเป็นการนำเสนอที่แปลกใหม่ แต่ยังคงรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของศิลปะยูริธมี่และมนต์เสน่ห์ของนิทานพื้นบ้านได้อย่างกลมกล่อม ทั้งยังชักชวนให้ผู้ชมตระหนักถึงคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นและเครื่องดนตรีพื้นบ้าน สานต่อสู่อนาคตของศิลปะการแสดงไทยให้ก้าวสู่ระดับสากลและดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น