ถอดกระบวนท่า ตั้งหน้ารับการเปลี่ยนแปลง
ที่วงเสวนาสุดคูล ‘Change Too Shall Last เปลี่ยนแล้ว เปลี่ยนอีก’↗ โดยพันธมิตรหน้าใหม่ Sansarang Gallery (สรรสรางค์แกลเลอรี่) พื้นที่เรียนรู้และฮีลใจกลางเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งก่อตั้งโดยคุณต๊ะ ณัฐชยา สุขแก้ว บุกขึ้นกรุงเทพฯ มาถึง Slowcombo (สโลว์คอมโบ สามย่าน) เพื่อขานรับความเปลี่ยนแปลงตามแนวคิด เปลี่ยน · อยู่ · คือ I change, therefore I am. ของเทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ Learning Fest Bangkok 2024
ประเด็นการเสวนาทั้ง 4 หัวข้อจากคน 8 คน คัดเลือกมาเพื่อตอบโจทย์มนุษย์งานในยุคปัจจุบันที่ต้องปรับตัวเข้ากับสถานการณ์หลากหลาย และทำความเข้าใจให้ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือแม้กระทั่งการเริ่มต้นใหม่นั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา
ไม่ตรงที่จบ… แต่ตรงที่ใจ
ใบปริญญาที่คนเราฝ่าฟันจนได้ติดมือออกมาจากมหาวิทยาลัย อาจช่วยตัดสินอนาคตเราในช่วงต้นของชีวิตการทำงาน แต่หากเราค้นพบความชอบใหม่ระหว่างทาง หรือชีวิตจับพลัดจับผลูไปในเส้นทางใหม่ การเปลี่ยนแปลงก็อาจจำเป็น แต่ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้หลายคนหวั่นใจ เพราะความคิดที่จะหลุดออกไปจากเซฟโซนเดิมนั้นต้องอาศัยความกล้าอันยิ่งใหญ่
แต่หนึ่งเมล็ดพันธุ์ทางความคิดที่ค่อย ๆ แตกหน่อภายในตัวเรา ก็เป็นพลังสำคัญที่ไม่ควรเพิกเฉย ทั้งนี้ เราต้องยอมรับให้ได้ก่อนตัดสินใจแบกรับความเสี่ยง ว่าบางครั้งสิ่งที่คิดกับความจริงก็เป็นคนละเรื่อง อาจล้มเหลวจนทำให้เราท้อ แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องยอมรับข้อผิดพลาดให้เป็น เรียนรู้ และแก้ไข แล้วพัฒนาตัวเองไปทีละก้าว
คุณอ้น กิตติพงษ์ โสภณหิรัญรักษ์ และคุณนู๋นี๋ นิษณา โยชิโอกะ เห็นตรงกันว่าการเปลี่ยนสายงานไม่ใช่เรื่องยาก หากเรารู้จักยอมรับความไม่รู้ แล้วไถ่ถามจากผู้คนรอบข้าง เพื่อเน้นย้ำเหตุผลสำคัญว่าเรามายืนอยู่จุดนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เรามีความชื่นชอบและตั้งใจที่จะมาทำงานนี้จริง ๆ รวมถึงมีต้นทุนที่จะทำให้เราพอจะแลกความฝันชิ้นใหม่ได้โดยชีวิตไม่เสียสมดุล ไม่ว่าต้นทุนนั้นจะเป็นพละกำลัง โอกาส ทุนทรัพย์ หรือเวลาก็ตาม
อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนมักหลงลืมระหว่างการเดินทางในเส้นทางใหม่ คือการชื่นชมสิ่งรอบกาย ไม่ว่าจะเป็นการขอบคุณตัวเองหรือเพื่อนร่วมงานที่ประสบความสำเร็จแม้เพียงเล็กน้อย เราสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้ประสบความสำเร็จบนเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ เพื่อส่งมอบพลังบวกเยียวยาหัวใจเพื่อนมนุษย์ให้ยืนหยัดในสมรภูมินี้ต่อไป
ก้าวเท้าลาออกอย่างภาคภูมิใจ… ก้าวต่อไปต้องทำเอง
เมื่อถึงวันที่การยื่นใบลาออกเพื่อมาประกอบธุรกิจส่วนตัวกลายเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่แค่เรื่องที่พูดแซวขำ ๆ กันกับเพื่อนรวมงานอีกต่อไป การเปลี่ยนสถานะจากพนักงานบริษัทที่มีเงินเดือนรออยู่ทุกสิ้นเดือน กลายเป็นผู้ประกอบการที่เวลาทั้งเดือนคือความท้าทาย จึงไม่ใช่เรื่องที่ใครทำให้ใครกล้าตัดสินใจลาออกกันง่าย ๆ
คุณพีท กิตตินันท์ กลองใหญ่ และคุณเค้ก กวิตา กรมั่ง เล่าฐานะผู้ประกอบการว่าการลงสนามแข่งขันทางธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องรู้จักมองเกมระยะยาว รักษาความสม่ำเสมอและให้คุณค่ากับผลงาน เพื่อให้ผลงานเป็นตัวบอกเล่าเรื่องราวของเรา สิ่งสำคัญคือต้องรู้จักปรับมุมมองอีกด้านที่ประสบการณ์ในบริษัทไม่ได้สอน คือการคิดแบบคนตัวเล็ก อย่ามองทุกคนเป็นคู่แข่ง หาหุ้นส่วนที่มีความรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ เพื่อมาอุดรอยต่อด้วยกัน
นอกจากนี้ เราต้องอยู่ให้ชินกับความล้มเหลว อย่าติดกับดักความสมบูรณ์แบบ และพึงระลึกไว้ว่าเราไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างในเวลาเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องเติบโตอย่างก้าวกระโดดทุกไตรมาส และที่สำคัญ ในบางครั้งการอยู่นิ่ง ๆ ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะชีวิตของแต่ละคนไม่มีสูตรตายตัว จงพยายามหาความสุขเล็ก ๆ จากการทำงาน
สิ่งสำคัญที่สุดของการลาออกเพื่อมาประกอบธุรกิจ คือการตั้งต้นจากความชื่นชอบ ซึ่งต้องรู้จักตัวเองให้ดีก่อนว่าชีวิตนี้เราจะใช้พลังในการขับเคลื่อนไปกับสิ่งนี้ อย่าพยายามเริ่มต้นธุรกิจเพื่อเหตุผลด้านการเงินเป็นหลัก เพราะหากปราศจากความชอบ เราจะไม่สามารถวิ่งตามเทรนด์ในเรื่องนั้น ๆ ได้ทัน และสุดท้ายจะกลายเป็นเราที่เหนื่อยเสียเอง
จากน้องคนนั้น… กลายเป็นพี่คนนี้
หลายคนกล่าวว่าการบริหารคน ยากกว่าการบริหารงาน
ผู้คนจากหลากครอบครัว ย่อมสั่งสมประสบการณ์ชีวิตและบ่มเพาะลักษณะนิสัยมาไม่เหมือนกัน มีโลกทัศน์ของตัวเอง มีความสนใจเฉพาะตัว บางคนให้ความสำคัญกับเรื่องรายได้ การเติบโตในหน้าที่การงานจนได้รับการยอมรับ หรือบางคนอยากเข้ามาทำงานสบาย ๆ ไม่เลื่อนขั้นก็ได้ ขอแค่ทำงานในจบไปในแต่ละวัน
คุณมาย กชกร เดชเดชานุกุล และคุณตา กัญญา วงแสงน้อย แชร์บทสรุปที่ได้จากประสบการณ์ที่ได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีม ว่าการเป็นผู้นำไม่ใช่แค่การชี้ให้เห็นถึงจุดบกพร่องของลูกน้อง หรือสั่งงานให้ได้ผลงานตามเป้าหมาย เราไม่สามารถนำแนวคิด ‘โลกหมุนรอบตัวฉัน’ มาใช้ได้ในการทำงานกับทีม ข้ออ้างที่ว่าฉันเป็นแบบนี้ ฉันจึงปฏิบัติกับทุกคนแบบนี้ เป็นอันตราย เพราะผู้นำที่ดีต้องปรับให้อยู่ได้กับทุกคน รู้จักวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีมและ ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ให้ได้เหมือนน้ำในภาชนะต่าง ๆ และที่สำคัญคือต้องรับฟังเพื่อเรียนรู้ที่จะเข้าใจลูกทีมอย่างแท้จริง
สรุปทิ้งท้าย ผู้นำที่ดีต้องบริหารคนให้เหมาะสมกับลักษณะของงาน เพื่อให้เกิดความพึงพอใจทั้งผู้บริหารระดับเหนือขึ้นไปและทีมงานระดับล่างลงมา ทักษะการสื่อสารจึงเป็นทักษะสำคัญ เพราะมีบทบาทในการเป็นกาวประสานของคนในทั้งสองระดับ
เพื่อนคู่คิด… ชีวิตติด AI
AI (Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์) จะมาแทนที่มนุษย์หรือไม่ ตอนนี้อาจยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว คือความได้เปรียบของคนที่ใช้ AI เป็น เทียบกับคนที่ไม่รู้วิธีใช้ AI
AI มีหลากหลายประเภทที่เอามาใช้ในระบบงานได้ ทั้งที่ช่วยอำนวยความสะดวกในด้านเอกสาร ช่วยคิดหาไอเดียเพื่อนำมาต่อยอด หรือเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกทักษะภาษา
คุณเฟิร์น ภัทราภรณ์ และคุณคริส กฤษดา ชุก ร่วมกันยกตัวอย่างและอภิปรายประโยชน์ของการใช้ AI ในการทำงาน HR (Human Resource หรืองานบริหารบุคคล) ว่านอกจากจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย ยังทำให้มีเวลาเหลือในการจัดการช่องโหว่อื่น ๆ ที่พบภายในบริษัท จนนำไปสู่การเลื่อนระดับตำแหน่งภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี และยังมีการเผยทริค แนะนำวิธีการใช้ AI ในกระบวนท่าต่าง ๆ ที่ถึงแม้ผู้ไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อนก็สามารถใช้ได้ ให้ผู้ฟังได้กลับไปทดลองใช้งานกันได้ตามอัธยาศัย
วงสนทนานี้นำมาสู่ข้อสรุปว่า ส่วนใหญ่เรานำจุดเด่นของ AI แต่ละตัวมาเป็นตัวช่วยในการทำงานมากกว่ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ เพราะปัญญาประดิษฐ์อาจดูฉลาดคล่องแคล่ว แต่ก็ยังมีข้อเสีย คือตัดสินใจที่เป็นเส้นตรงราวไม้บรรทัด ร้อยเรียงข้อมูลจากแหล่งที่มีอยู่ ไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องซับซ้อนและคิดอย่างเห็นอกเห็นใจเหมือนกับมนุษย์ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือมนุษย์ไม่ควรหวาดกลัว AI แต่ควรเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับ AI โดยการนำข้อดีของมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ให้ AI เป็นเพื่อนช่วยคิด ช่วยเสนอข้อมูล แล้วตัวเรารับภาระการตัดสินใจด้วยตนเอง เพื่อพัฒนาตัวเองให้ก้าวทันโลกไปสู่ความสำเร็จในด้านต่าง ๆ
ภายในหนึ่งวัน สรรสรางค์แกลเลอรี่และประสบการณ์จากคนทั้งแปด ทำให้สโลว์คอมโบกลายเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรื่องราวของคนตัวเล็กที่ไม่ต้องประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ ไม่ต้องรวยมากมายมหาศาล เพียงแค่มาความตั้งใจมาแลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างก้าวของชีวิต โดยไม่ว่าใครก็สามารถใช้พื้นที่ตรงนี้ได้ เพราะจุดร่วมคือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตที่หน้าหนังสือไม่ได้บอก และตระหนักรู้ว่าบางครั้งเราก็ไม่จำเป็นต้องวิ่งตามหรือวิ่งหนีการเปลี่ยนแปลง แค่ตั้งตาและเตรียมใจ ให้พร้อมโอบรับเมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึง