บทเรียนวัย 30+ โตแล้ว สุขได้ ร้องไห้เป็น
หนึ่งในไฮไลต์ของเทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ Learning Fest Bangkok 2024 คือการกลับมาของเวทีเอ๊ะ Talk ที่ในครั้งนี้ The MATTER ร่วมกับ TK Park ชวนมนุษย์วัย 30+ มาสกัดบทเรียนมากมายในชีวิต ที่งานเอ๊ะ Talk: ชวนชาวจ๋อยมาจอยน์กัน↗ กลางลานสานฝัน ในบ่ายวันสุดท้ายของเทศกาลฯ
วงเสวนาในวันนั้นดำเนินไปด้วยความอบอุ่นและน่าประทับใจ เพราะผู้ร่วมวงเสวนา อย่าง ‘อุล ภาคภูมิ’ หรือ อุล ตลก 6 ฉาก นักแสดงและพิธีกรที่ขึ้นชื่อเรื่องความฮา ‘อิส อิสระ’ แห่ง VRZO ที่ตอนนี้ผันตัวมาทำ Rubsarb Production ‘แพร พิมพ์ลดา’ เจ้าของเพจอาหารและความยั่งยืน ‘Pear is hungry’ และ ‘เตย มนสิชา’ จากเพจเล่าเรื่องประวัติศาสตร์แบบเเซ่บแต่มีสาระ ‘พื้นที่ให้เล่า’ และผู้ดำเนินรายการ กวง ณัฐนันท์ เฉลิมพนัส และอิ๊งค์ พรรณรมณ ชูฤกษ์ ต่างก็พกประสบการณ์และเรื่องราวตกตะกอนจากทั้งความสำเร็จและความผิดพลาดของตัวเองมาแลกเปลี่ยนกันอย่างเต็มที่
รับชมและซึมซับบรรยากาศภายในงานย้อนหลังได้ทาง YouTube↗ หรือทาง Facebook Watch↗
และสำหรับนักอ่าน TK Park บันทึกบทสรุปในแต่ละประเด็นคำถามมาให้คุณได้อ่าน ดังนี้
- เอ๊ะ! เมื่อชีวิตไม่เป็นอย่างที่คิด… จะบาลานซ์ความฝันกับความเป็นจริงยังไง?
เตย: ย้อนกลับไปในช่วงที่เราอยู่ในวัย 20 กว่า ตอนนั้นเราชอบประวัติศาสตร์ อยากทำงานวิชาการ ก็เลยไปลองทำหลาย ๆ อย่างเพื่อหาคำตอบให้กับตัวเอง คุยกับตัวเองเยอะว่าจะทำงานเพื่อเงินหรืออุดมการณ์ หรือจะหาจุดที่มันบาลานซ์ระหว่างสองสิ่งนี้ดี จนค้นพบว่าเราชอบงานที่สนุก มีเสียงการเล่าเรื่องของตัวเองด้วย แล้วไลฟ์สไตล์ของนักวิชาการที่มีกรอบและซีเรียสมาก ๆ ก็ไม่เหมาะกับเรา สุดท้ายเลยคิดว่า เราทำงานประจำ แล้วนำสิ่งที่เราชอบมาก ๆ มาทำเป็นงานอดิเรกดีกว่า
อุล: ตัวตนจริง ๆ เราไม่ใช่คนตลกมากมายอะไร แต่ด้วยหน้าที่การงานเราจะต้องสนุกสนาน เฮฮา เวลาไปออกรายการ บางทีเขาไม่ได้ถามคำถามเราเพราะต้องการคำตอบจริง ๆ เขาต้องการความตลก ความวาไรตี้ จนเราเริ่มเหนื่อย เลยตัดสินใจว่าจะไม่รับงานตลกแล้ว จะรับแต่งานจริงจัง แต่ผ่านไปสองเดือน ไม่มีงานเลย เพราะฉะนั้นเราต้องเเบ่งงานเป็นสองแบบ คือ งานที่ใช้เลี้ยงตัว แล้วก็งานที่ใช้เลี้ยงใจ เลือกงานที่ไม่ได้ทำให้เราเสียตัวตนมากจนเกินไป แล้วก็ค่อย ๆ หัดปฏิเสธให้เป็นมากขึ้น ใช้คำว่า “อันนี้ไม่สะดวก” ยิ่งโตยิ่งทำได้
เเพร: เราเจอสถานการณ์เดียวกับอุล จุดที่งานเริ่มซาลง เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ฉันเป็นคนตลกขนาดนั้นไหมนะ?” เพราะเคยได้รับนามสกุล ‘ตลก 6 ฉาก’ ทั้งที่ไม่ได้เป็นคนตลกเลย แต่เป็น “ตัวโดน” ในรายการ กลายเป็นว่าทุกคนคาดหวังความตลกจากเรา เลยลองเลือกรับงานเพื่อปรับบทบาทตัวเอง แล้วก็เป็นจุดเปลี่ยน เพราะพอเราเปลี่ยน อาชีพพิธีกรก็ปิดประตูใส่หน้าเรา มันบังคับให้เราหยุด แล้วถามตัวเองว่า “จะเอายังไงต่อไป?” ก็ค่อย ๆ เรียนรู้ตัวตนข้างในมากขึ้น เชื่อว่าวัย 30 ไม่ช้าเกินไปสำหรับคำถามนี้ เพราะคนเราเปลี่ยนแปลงไปทุกช่วงวัย ต้องถามตัวเองไปเรื่อย ๆ
อิส: ตอนที่ทำ VRZO 90 เปอร์เซ็นต์ของคลิปจะผ่านมือเรา มันเกิดภาวะตัวตนล้นเกินจนไปครอบงำคนอื่น บวกกับปัจจัยอื่น ๆ เราเลยตัดสินใจ “หนีปัญหา” ไปอัปสกิลเรียนภาษาที่อเมริกา ไปอยู่ที่นั่นสักพักถึงรู้ตัวว่าอยู่ในภาวะ ‘burnout’ ช่วงที่ไปโร้ดทริปยาว ๆ เลยกลับมารู้สึกถึงพลังตอนเริ่มทำ VRZO อีกครั้ง เราเริ่ม enjoy อยากใช้ชีวิตที่ไม่ได้เป็นการทำงาน พอกลับมาก็เริ่มรู้สึกหาทำมากขึ้น เปิดมากขึ้น เริ่มทำในสิ่งที่อยากทำ
- เลือกเส้นทางชีวิตได้แล้วแต่ เอ๊ะ! อาณาเขตความสุขในวัย 30 ของเรามีหน้าตาเป็นแบบไหนกัน?
เตย: เราคิดแค่ว่าเราอยากสื่อสารกับคนที่เขาสนใจจริง ๆ มีคนคุยกับเราแค่ 5 คนเราก็ happy แล้วนะ อยากจะใช้ energy กับตรงนี้ เพราะเราเป็นคนเรียนประวัติศาสตร์ ชอบการถกเถียง การทำเพจมันคือการสร้างพื้นที่ตรงนั้น เราเลยพร้อมที่จะคุยเสมอไม่ว่าใครจะเข้ามาด้วยภาษาแบบไหน หรือชุดความรู้แบบไหนก็ตาม นี่คืออาณาเขตความสุขของเรา
อุล: เวลาที่เราทำงาน เราต้องออกไปสร้างความสนุกสนาน ต้องคุยกับคนมากมาย แล้วเราก็เป็นคนที่ชอบกลับมาคิด ว่า “เราไม่ควรพูดสิ่งนั้นเลย” “เขาไม่ชอบเราหรือเปล่านะ” “วันนี้ทำงานไม่ดีเลย” เครียดไปหมด จนต้นปีที่เราไปอเมริกา เรากลับไม่เป็นทุกข์เลย เพราะว่าไ่ม่ได้คุยกับใครเลย! พอไม่ต้องสื่อสารกับใคร เราก็ไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้ใครไม่สบายใจ ไลน์ก็ไม่เด้งด้วยเพราะว่าช่วงเวลาที่เราใช้ชีวิตที่นู่น ที่ไทยเขานอนกัน มันเป็นอาณาเขตความสุขที่ดีมาก แฮปปี้มาก ๆ บางทีเราต้องหาอะไรพวกนี้มา charge พลัง
แพร: เรามองชีวิตเป็นวงกลม เชื่อว่าการที่เราจะใช้ชีวิตต่อไปได้ วงกลมของเรามันจะต้องเต็มก่อน ซึ่งในวันที่เราใช้ชีวิตมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งอายุ 30 ปลาย ๆ วงกลมเรามันเริ่มเต็มประมาณหนึ่ง แต่วันที่คุณพ่อเสีย ข้างในเราถูกเขย่าเเรงมาก แกนสำคัญของเรามันหายไป เลยต้องกลับมาถามตัวเองว่าจะทำยังไงกับวงกลมนี้ต่อ มองว่าทิศทางมันอาจจะเป็นการขยายไปวงต่อไป ซึ่งวงต่อไปของเรามันคือเรื่องครอบครัว ขยายต่อไปอีกมันคือวงของสังคม ขยายต่อไปมันคือวงของประเทศและโลกใบนี้ แล้วก็วงสุดท้ายคือเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น การใช้ชีวิตต่อไปนี้เราอาจจะไม่ได้ตีกรอบไว้แค่ความสุขของตัวเองแล้ว เราอยากจะขยายพื้นที่ให้มันกว้างขึ้น
อิส: ในวัย 36 เราทำงานเพื่อสังคม แต่สิ่งที่ทำแล้วสนุกมันก็ยังต้องมี เพราะฉะนั้นเราต้องบาลานซ์ มันได้อย่างเสียอย่าง เวลาเกมออกเเทนที่จะได้เล่นแบบหลบสปอยล์ได้ ก็ต้องทำใจ (หัวเราะ) เพราะงานที่เราทำมันต้องเข้าไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานั้นเลย แต่เกมมันยังรอได้
- อายุ 30 ทำให้เราเริ่ม เอ๊ะ! เพื่อเลือกหรือตัดสินใจอะไรง่ายขึ้นไหม
แพร: แพรว่าอายุไม่ใช่ปัจจัย สำหรับเราคือตั้งคำถามเก่งขึ้น แล้วรู้ว่าตัวเองให้ความสำคัญอะไรในชีวิต พอรู้แล้วว่าความสุขที่สุดของเราคือครอบครัว เลยตั้งคำถามว่า “24 ชั่วโมงที่เรามี เราจะใช้ไปกับใคร และอะไร?” New Year’s Resolutions มีเขียนไว้หมดเลยนะ ว่าจะกินข้าวกับแม่กี่วันต่อสัปดาห์ ซึ่งอาจจะทำไม่ได้ทั้งหมด แต่มันทำให้เราเห็นว่าเราอยากใช้ชีวิตแบบไหน
เตย: ง่ายขึ้น แต่ไม่ใช่เพราะอายุ มันเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตมากกว่า ทุกการเลือกคือการแลก ถ้าเราเลือกไปแล้วเราต้องรับความผิดหวังหรือสมหวังกับมันด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ ไม่มีใครเเชร์กับเราได้นอกจากตัวเราเอง แล้วก็ไม่ต้องไปเสียดายการตัดสินใจของตัวเองถ้าทุกอย่างมันไม่ได้เป็นแบบที่คิดไว้ เอาแค่ปัจจุบันเรา happy ก็พอแล้ว
อุล: เราไม่ค่อยต้องตัดสินใจอะไรมาก เพราะว่าเมื่อเราเจอเป้าหมายแล้ว เราจะอยู่ในวงโคจรนั้น ซึ่งเราก็อยู่ในอาณาเขตความสุขของเรา ไม่ค่อยจะออกไปสักเท่าไร สังคมอาจจะหยิบยื่นกระเเสเล่นหุ้น กระแสลาบูบู้มาให้ แต่ถ้าเราไม่ชอบเราก็จะไม่ทำ ถ้าไม่ชอบจริง ๆ ก็ไม่ต้องออกไป กระจอกในพื้นที่ตัวเองแบบมีความสุข เราว่าดีกว่า
อิส: สำหรับเราคือปล่อยวางมากขึ้น เพราะตอนนั้นเราเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เดี๋ยวนี้เวลาขึ้นงานใหม่ ๆ ก็จะพยายามให้น้อง ๆ มีส่วนร่วมในงานมากขึ้น เราเป็นคนที่ชอบตัดสินใจมาตลอด แต่ตอนนี้เราแบ่งการตัดสินใจให้คนอื่นบ้าง ซึ่งก็ยากนะ แต่ว่าเราก็รู้จักช่างมันมากขึ้น
- หยุดแล้ว เอ๊ะ! ก่อนจะโบยตีตัวเองเมื่อผิดพลาด
แพร: อิสจะเป็นคนชอบตัดสินใจ แต่เราเป็นคนชอบผลักให้คนอื่นตัดสินใจ เพราะไม่อยากรับผิดชอบการเลือกนั้น ได้มาเรียนรู้ตอนทำ Pear is hungry เพราะว่าต้องทำเองคนเดียวทั้งหมด เราว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการไม่โบยตีตัวเองเมื่อมันพลาด ไม่ตัดสินตัวเองเมื่อสิ่งนั้นมันไม่เป็นแบบที่เราหวัง เพราะเมื่อไรที่เราเริ่มโทษตัวเอง เราจะไม่กล้าตัดสินใจในครั้งต่อไป ถ้าพลาดก็คือพลาด เราก็แค่เริ่มต้นใหม่ ชีวิตไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่อายุ 30
อิส: ตอนทำ VRZO เคยไปถ่ายงานแล้วเผลอลบ footage วันนั้นตีตัวเองไปไม่รู้กี่รอบ เราเป็นคนโบยตีตัวเองบ่อยมากเวลาพลาด ทุกวันนี้ก็ยังมีนะ เเต่มันทำอะไรไม่ได้ มันได้แต่ด่าตัวเองแล้วก็ไปถ่ายใหม่ มองว่าเป็นการระบายความคับแค้นของตัวเองอออกมาแล้วกัน เหมือนเวลาที่เสียใจเราก็ต้องร้องไห้
เตย: การโตเป็นผู้ใหญ่เราต้องรู้จักรับผิดรับชอบ เวลาทำดีต้องชมตัวเองบ้าง ยอมรับว่าเราเก่งบ้าง แต่ถ้าทำผิดเราก็ต้องรับผิดชอบ อย่าไปหาข้ออ้าง เพราะว่าเราเลือกเอง ถ้าเกิดวันไหนที่คอนเทนต์มันผิดพลาด เราก็ต้องขอโทษลูกเพจ ขอบคุณเขาที่มาแชร์กัน แล้วก็แก้เลย เราว่ามันรู้สึกดีนะพอเรารับได้ว่าเราผิดอะไร มันจะทำให้เราไปต่อได้ เพราะไม่อย่างนั้นเราก็จะคิดแก้ตัวให้ตัวเองไปเรื่อย
อุล: บางทีเราชอบโบยตีตัวเองแรง ๆ นานไปหน่อย แต่ก็รู้สึกว่าความผิดพลาดมันไม่ใช่ข้อไม่ดีอะไร เพราะคนที่ประสบความสำเร็จล้วนเคยผิดพลาดมาก่อน คนที่ล้มเหลวคือคนที่ไม่สามารถเปลี่ยนข้อผิดพลาดเป็นประสบการณ์ได้ต่างหาก ต้องรู้จักปล่อยวางมากขึ้น สมมติว่าเราไปทำงาน ท่องสคริปต์ไปทั้งคืนเลย แต่กลัวว่าจะพูดผิด เราไปด้วยความกังวล มันจะผิดตั้งแต่ “สวัสดี” แล้ว เพราะฉะนั้นเราว่าลดความกังวลลง แล้วเพิ่มความเป็นตัวเองให้มากขึ้นดีกว่า ผิดก็ผิด ช่างมัน
- หัด เอ๊ะ! ในวันที่ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง จะทำยังไงกับอาณาเขตความสุขของเรา
อุล: อ่านหนังสือเจอว่า ถ้ารู้ตัวว่าตัวเองเป็นอูฐ ไม่ต้องรู้สึกว่าอยากไปอยู่ขั้วโลกเหนือแบบนกเพนกวิน เราตั้งคำถามว่าจะอยู่ในทะเลทรายของเราแบบมีคุณภาพยังไงดีกว่า เหมือนเราตอนนี้ที่อยู่ในทะเลทราย เรา happy มาก ไม่ได้เป็นคนเก่งมากมายอะไร แต่ก็ได้ทำในสิ่งที่ชอบ แล้วสักวันหนึ่งเราจะเป็นแบบ ‘สัญญา คุณากร’
เตย: เราชอบความคิดที่ว่าในแต่ละช่วงวัยสิ่งที่เรามีความสุขมันไม่เหมือนกัน ในวัย 30 เราชอบชีวิตแบบนี้ เราก็อาจจะรักษาให้มันอยู่แบบนี้ไปก่อน แต่ถ้าวันนึงการทำเพจมันไม่ใช่สำหรับเราแล้วก็คุยกับตัวเองใหม่ ยอมรับว่ามันไม่ใช่ แต่ถ้าจุด ๆ นี้เราเเเฮปปี้เราก็ใช้ชีวิตไป ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่น
อิส: เราเปรียบเทียบตัวเองเหมือน “หมา” ที่จะสร้างอาณาเขตของตัวเองโดยธรรมชาติ พอใครรุกล้ำเข้ามาเราก็จะแง่ม! ตอนนี้เราก็เป็นหมาอายุ 30 เป็นหมาที่ใจดีขึ้น ก็ให้คนเข้ามาบ้าง แต่เราก็ค้นพบว่าแม้จะมีความสุขในอาณาเขตเราดี เราก็มีความกลัวว่าจะต้องกลับไป burnout หรือวันที่ต้องสูญเสียเสาหลักอย่างคุณแม่ไป เราจะยังคงรักษาอาณาเขตความสุขนี้ไว้ได้อย่างไร ยังคงเป็น challenge เรื่องลูกชายก็เช่นกัน เพราะก็รู้ตัวว่ายังไม่ได้เป็นหมาที่ดูแลลูกน้อยของตัวเองได้ดี
แพร: คำว่าอาณาเขตมันดูตายตัว เรารู้สึกว่าสำหรับเรา ไม่มีอะไรจีรัง วันนี้เราเห็นว่าอาณาเขตความสุขของเราคือพื้นที่นี้ แต่วันพรุ่งนี้มันจะเปลี่ยนไป ไม่ว่าเปลี่ยนจากตัวเราเอง หรือสิ่งแวดล้อมเราบังคับให้ต้องเปลี่ยนก็ตาม วันนี้เราเจอแล้วว่าอาณาเขตของเรามันคือ ‘Pear is hungry’ ที่ทำให้คนที่มีความเชื่อในสิ่งเดียวกัน มาทำเพื่อสิ่งแวดล้อมร่วมกัน แต่ถ้าวันหนึ่งถ้ามันไม่ได้เป็นแบบนั้น เราก็แค่ยอมรับและสร้างพื้นที่ใหม่